“กล้วยไข่” เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีตลาดส่งออกสำคัญคือ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และฮ่องกง เนื่องจากเป็นพืชเขตร้อน จึงสามารถปลูกกล้วยไข่ได้ทุกพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะในจังหวัดกำแพงเพชร ถูกขนานนามว่าเป็นเมืองกล้วยไข่ เนื่องจากมีกล้วยไข่เป็นผลไม้ที่เป็นเอกลักษณ์ประจำจังหวัด และเป็นกล้วยไข่ที่อร่อยขึ้นชื่อที่สุดจนเป็นที่รู้จัก ด้วยผลผลิตมีเปลือกบางผิวตกกระ เนื้อแน่นเหนียว รสชาติหวาน ผลไม่เล็กไม่ใหญ่
ภัยธรรมชาติหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกกล้วยไข่ของเกษตรกรก็คือ พายุฤดูร้อน ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อลำต้นและผลผลิตกล้วยไข่ ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของปัญหานี้ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ (ศนก.) นำองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เข้ามาแก้ปัญหาและตอบโจทย์ให้แก่พี่น้องเกษตรกร ประสบผลสำเร็จในการวิจัยพัฒนา กล้วยไข่กำแพงเพชรต้นเตี้ย ที่มีคุณสมบัติช่วยสู้พายุฤดูร้อน โดยพบว่าแปลงกล้วยไข่ระยะที่ยังไม่ตกเครืออายุต้น 6 เดือน ที่ราดสารพาโคลบิวทราโซล สามารถต้านพายุฤดูร้อนได้ 100%
ทั้งนี้ จากสถานการณ์ลมพายุฤดูร้อนบริเวณภาคกลางตอนบน เมื่อเดือนมีนาคม 2564 ได้ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อแปลงปลูกกล้วยไข่ของเกษตรกรในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งเป็นแปลงทดลองราดสารควบคุมการเจริญเติบโตสำหรับผลิตกล้วยต้นเตี้ยเพื่อทดสอบการต้านลมพายุ ภายใต้โครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อเพิ่มผลผลิตและมูลค่าของผลผลิตกล้วยไข่เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจและรายได้ของเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตกล้วยไข่จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่ง วว. ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน)
คณะนักวิจัย วว. ได้สำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้นในแปลงทดลองที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติดังกล่าวพบว่า ต้นกล้วยไข่ที่ไม่ราดสารในระยะตกเครือเกิดการหักล้มเสียหายมากกว่า 95% ส่วนกล้วยไข่ต้นเตี้ยที่ราดสารพาโคลบิวทราโซลปริมาณ 5, 10 และ 15 กรัมต่อต้น สามารถต้านลมพายุและเกิดความเสียหายน้อยกว่า 40% โดยต้นกล้วยไข่ที่ราดสารลำต้นกล้วยไข่จะเอนแต่ไม่หัก สามารถยืนต้นเพื่อรอเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตได้โดยมีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่หัก เนื่องจากฤทธิ์ของสารพาโคลบิวทราโซลเริ่มหมดฤทธิ์ ซึ่งสังเกตได้จากยอดที่เริ่มยืดตัวขึ้นร่วมกับน้ำหนักของเครือกล้วยทำให้เกิดการเอนหรือการหักล้มได้บางส่วน
นอกจากนี้ ยังพบว่า ต้นกล้วยไข่ระยะที่ยังไม่ตกเครืออายุต้น 6 เดือนที่ราดสารพาโคลบิวทราโซล สามารถต้านพายุฤดูร้อนได้ 100% โดยต้นกล้วยไข่ที่ไม่ราดสารเสียหายมากกว่า 85% จากงานวิจัยนี้ส่งผลให้ นายช่วงชัย พุ่มใย เกษตรกรเจ้าของแปลงกล้วยไข่ เล็งเห็นประโยชน์จากการราดสารควบคุมเจริญเติบโตเพื่อผลิตกล้วยต้นเตี้ย จึงจะมีการขยายผลราดสารเพิ่มเติมให้แก่กล้วยไข่ทั้งหมดในแปลงวิจัยนี้ต่อไป
วว. ได้แนะนำเทคนิคการฟื้นฟูต้นกล้วยไข่ที่ได้รับความเสียหายจากพายุฤดูร้อนในแปลงวิจัย ดังนี้
1.การปรับปรุงหน่อข้างให้สมบูรณ์แข็งแรง
2.ทำการตัดใบกล้วยออกหนึ่งในสามในช่วงฤดูฝนเพื่อลดการต้านลม
3.การราดสารซ้ำอีกครั้งในกล้วยอายุต้น 3 เดือนห่างจากครั้งแรกประมาณ 90 วัน หรือทดลองราดสารในต้นกล้วยไข่ที่มีอายุน้อยลงทั้งนี้เพื่อจะผลิตกล้วยไข่ที่มีลักษณะต้นเตี้ยลงและแข็งแรงเพิ่มขึ้นร่วมกับการปรับปรุงระบบการให้ปุ๋ยมาใช้ในการปรับปรุงฟื้นฟูแปลงกล้วยไข่ที่โดนลมพายุ ซึ่งคาดว่าจะฟื้นฟูให้มีผลผลิตเหมือนเดิมในระยะเวลา 4-5 เดือน
กล้วยไข่กำแพงเพชรต้นเตี้ย ที่มีคุณสมบัติช่วยสู้พายุฤดูร้อน เป็นผลการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมของ วว. ในการนำ วทน. เข้าไปช่วยแก้ปัญหาให้กับพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ ทั้งนี้หากมีการนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่พัฒนาโดย วว. เข้าไปใช้ในพื้นที่สวนอื่นๆต่อไป เชื่อมั่นว่าความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจะลดลง ผลผลิตจะเพิ่มขึ้น อันจะนำมาซึ่งความมั่นคงและยั่งยืนในการประกอบการเกษตรกรรมต่อไป
กองประชาสัมพันธ์
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี