“ลูเซียง โลรองต์” นักเตะฝรั่งเศส เป็นผู้ทำประตูแรกในประวัติศาสตร์ ฟุตบอลโลก ในนาทีที่ 19 นัดเปิดสนาม
..........ปี 1900 คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ได้บรรจุฟุตบอลเข้าสู่การแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ ที่ประเทศฝรั่งเศส เป็นเจ้าภาพ หรือเป็นครั้งที่ 2 ที่โอลิมปิกยุคใหม่กลับมาจัดการแข่งขัน
แต่มีเพียง 3 ประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขัน นั่นก็คือ ฝรั่งเศส, เบลเยียม และเกรท บริเตน
การแข่งขันใช้เวลาเพียง 3 วัน ตั้งแต่ 20-23 กันยายนที่สนามเวโลโดรม เด แวงเซงเนส กรุงปารีส ที่สำคัญก็คือ เป็นนักเตะสมัครเล่นทั้งหมด และรวมทีมมาแข่งขัน
เกรท บริเตน ที่ส่งทีม “อัพตัน พาร์ค เอฟซี” ลงแข่งขัน ได้เหรียญทอง ขณะที่ ฝรั่งเศส คือทีม “Union des Sociétés Françaises de Sports Athlétiques” หรือ USFSA XI ได้เหรียญเงิน และเบลเยียม ได้เหรียญทองแดง ส่งเด็กมหาวิทยาลัยบรัสเซลล์ส คือ The Universités of Brussels มาทั้งทีม หนึ่งในนั้นเป็นชาวอังกฤษ ชื่อ เอริค ธอร์นตัน อยู่ในทีมด้วย
มีเกมฟุตบอลที่ “นัดกันเตะ” อย่างเป็นทางการนอกเกาะอังกฤษครั้งแรกในฐานะ “ทีมชาติชุดใหญ่” ไม่ใช่ “ทีมสมัครเล่น” นั่นก็คือ อุรุกวัย พบกับ อาร์เจนตินา ที่มอนเตวิเดโอ ก่อนที่อาร์เจนตินา จะบุกถล่มขาดลอย 6-0 บันทึก คือ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 1902
จนถึงปี 1904 หรือให้หลัง 2 ปี จากฟุตบอลนอกเกาะอังกฤษครั้งแรก และเป็นการเตะ ณ แดนไกลอย่างอเมริกาใต้ ก็ได้มีการถือกำเนิด สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า มีการจัดตั้งในการประชุมที่ รูแซงต์ ฮอนอร์ 299 (The Rue Saint Honoré229) กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อ 22 พฤษภาคม 1904
มีสมาชิกเวลานั้น 7 ชาติ ประกอบด้วย ฝรั่งเศส, เบลเยียม, เดนมาร์ก, เนเธอร์แลนด์, สเปน, สวีเดน และสวิตเซอร์แลนด์ ก่อนที่ เยอรมนี จะมาลงนามสมทบในภายหลัง
ในวันที่ 23 พฤษภาคม 1904 มีการเลือกตั้งประธานฟีฟ่าคนแรก ปรากฏว่า โรแบร์ เกแร็ง ชาวฝรั่งเศส ที่มีอาชีพเป็น“ผู้สื่อข่าว” ขึ้นเป็นประธานคนแรก
ปีนั้นตรงกับ โอลิมปิกเกมส์ 1904 ที่เซนต์หลุยส์ มิสซูรี่ สหรัฐอเมริกา เป็นเจ้าภาพ ซึ่งฟุตบอลถูกบรรจุต่อเนื่อง มีทีมแข่ง 3 ทีมเท่าเดิม แต่เปลี่ยนหน้าออกไปนั่นคือ แคนาดา ใช้ทีม กัลท์ เอฟซี, สหรัฐอเมริกา 1 ใช้ทีม คริสเตียน บราเธอร์ส คอลเลจ และสหรัฐอเมริกา 2 คือทีม เซนต์.โรส พาริช ใช้สนามฟรานซิส ฟิลด์ จัดแข่งขัน
จากนั้นในปี 1906 มีการจัดแข่งขัน Intercalated Games ถ้าเรียกง่ายๆ คือ รายการน้องๆ ของโอลิมปิก ที่เอเธนส์ ประเทศกรีซ ก็มีการบรรจุฟุตบอลแข่งขัน ตอนนั้นมี 4 ทีม คือ เดนมาร์ก, กรีซ และอีก 2 ทีม คือ สเมียร์น่า กับ เธสซาโลนิกี้ ซึ่งอยู่ในแผ่นดินของตุรกี
ฟุตบอล เริ่มเติบโตขึ้น ฟีฟ่า กระจายสมาชิกต่างๆ ออกนอกยุโรป ไปยังประเทศแอฟริกาใต้ ปี 1909, อาร์เจนตินา ปี 1912, แคนาดา กับ ชิลี ปี 1913 และสหรัฐอเมริกา ปี 1914
การดวลแข้งในศึกโอลิมปิกเกมส์ ก็ยังดำเนินต่อไป ในปี 1908 ที่มหานครลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่ง เอฟเอ เข้ามาดูแลการแข่งขันด้วยตัวเอง มีทั้งหมด 5 ทีมแข่งขัน ก่อนที่ เกรท บริเตน จะเป็นแชมป์
ประธานฟีฟ่า จูลส์ ริเมต์ กับโทรฟี่ประจำการแข่งขันที่ชื่อว่า “วิคตอรี่” ในยุคแรกรุ่งอรุณเมื่อปี 1930
ฟุตบอลคึกคักต่อเนื่องในศึกโอลิมปิก ปี 1912 ที่กรุงสต๊อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน มีทีมมาร่วมถึง 11 ชาติ ยังคงเป็น เกรท บริเตน จะชนะ เดนมาร์ก ในนัดชิงเหรียญทอง 4-2 คว้าแชมป์
แต่งานกำลังสนุกต้องสะดุดไปทั้งโลก เนื่องจากเกิดสงครามโลก ครั้งที่ 1 ระหว่าง 28 กรกฎาคม 1914 ไปจนถึง 11 พฤศจิกายน 1918
ในปี ค.ศ.1914 ฟีฟ่า ได้เดินเกมรุกเต็มอัตราศึกว่าฟุตบอลในโอลิมปิกเกมส์ จะเป็น “การแข่งขันชิงแชมป์สำหรับมือสมัครเล่น” และจะรับผิดชอบในการจัดการการแข่ง ซึ่งเป็นการปูทางสู่การจัดการแข่งขันระดับทวีปเป็นครั้งแรก ที่แยกเรื่องของ “ฟุตบอลล้วน”
โอลิมปิกเกมส์ กลับมาแข่งขันอีกครั้งในปี 1920 มีถึง14 ชาติเข้าแข่งขันที่เบลเยียม เป็นเจ้าภาพ พร้อมกับคว้าเหรียญทองไปครอง แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ฟุตบอลโตขึ้นอีกระดับ เมื่อมีชาติจากแอฟริกา อย่าง อียิปต์ เข้าร่วมการแข่งขัน
เหมือนกับว่า ฟุตบอลจะหยุดไม่อยู่ ในโอลิมปิกเกมส์ปี 1924 ที่ฝรั่งเศส มีทีมเข้าร่วมถึง 22 ประเทศ และเป็น อุรุกวัยที่ได้แชมป์ไปครอง
จากนั้นในปี 1928 ที่เนเธอร์แลนด์ อุรุกวัย ก็คว้าเหรียญทองมาครอง ป้องกันแชมป์ได้ 2 สมัยติดต่อกัน
จากความสำเร็จอย่างต่อเนื่องในโอลิมปิกเกมส์ เหมือนกับถึงช่วงเวลาอัน “สุกงอม” ที่ฟุตบอลจะแยกตัวออกมาจัดการแข่งขันเป็นครั้งแรก ซึ่ง ฟีฟ่า ในยุคที่มี “จูล์ส ริเมต์” ทำหน้าที่เป็นประธาน
ริเมต์ เป็นประธานฟีฟ่า คนที่ 3 ต่อจาก โรแบร์ เกแร็งชาวฝรั่งเศส ที่ทำงานระหว่างวันที่ 23 พฤษภาคม 1904 ถึง4 มิถุนายน 1906 ต่อด้วย ดาเนี่ยล เบอร์ลี่ย์ วู้ดฟอลล์ ชาวอังกฤษ ที่เริ่มงาน 4 มิถุนายน 1906 และเสียชีวิตระหว่างดำรงตำแหน่ง เมื่อ 24 ตุลาคม 1918
โดยช่วงนั้นเพิ่งจบสงครามโลกใหม่ๆ ทำให้ คอร์เนลิส ออกัส วิเล่ม ไฮร์ชมัน ชาวเนเธอร์แลนด์ รักษาการตำแหน่งประธาน เกือบ 2 ปี ก่อนที่ ริเมต์ จะเข้ามารับงานชั่วคราวช่วงปลายปี 1920 ก่อนจะได้รับเลือกตั้งอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มีนาคม 1921 และทำงานจากวันนั้นยาวนานถึง 33 ปี 112 วัน
ริเมต์ ซึ่งอยู่ในทีมบริหารของฟีฟ่า มาตั้งแต่ปี 1904 แต่ในช่วงสงครามโลก เขาต้องไปประจำการในกองทัพของฝรั่งเศส และหลังสงคราม เขามารับตำแหน่งประธานสหพันธ์ฟุตบอลฝรั่งเศส ก่อนได้รับการคัดเลือกให้เป็น “ประธานฟีฟ่า” เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 1921
ก่อนจะเป็นผู้คิดริเริ่ม และผลักดันให้การจัดการแข่งขัน“ฟุตบอลโลก”!!!
“SS Conte Verde” เรือในตำนานจอดเทียบท่า ณ มอนเตวิเดโอ
อย่างไรก็ตาม ริเมต์ ต้องสูญเสีย “เพื่อน” ไปอย่างไม่ตั้งใจนั่นก็คือสมาชิกจากฝั่งสมัครเล่น นำโดย อังกฤษ และสกอตแลนด์ รวมไปถึงการไม่พอใจอย่างรุนแรงของ ปิแอร์ เดอ คูแบร์แตงประธานโอลิมปิกสากล
กับแนวคิดที่จะจัด “ฟุตบอลโลก”
.....ไม่มีอะไรหยุด ฟีฟ่า ได้อีก เมื่อในการประชุมฟีฟ่า คองเกรส ครั้งสำคัญเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 1928 ที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ บอร์ดบริหารฟีฟ่า ตัดสินใจที่จะจัดการแข่งขันฟุตบอลด้วยตัวของตัวเองเป็นครั้งแรก
จากหลายๆ บันทึกระบุว่า ฟีฟ่า เล็งไปที่ อุรุกวัย ที่กำลังร้อนแรงในฟุตบอลโอลิมปิก รวมถึงการเฉลิมฉลอง 1 ศตวรรษแห่งอิสรภาพของอุรุกวัย ในปี ค.ศ. 1930
เป็นความบังเอิญแบบพอดีที่ อุรุกวัย ได้เสนอว่า พวกเขาพร้อมมากๆ และจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้กับทุกทีมทั้งหมด
ทุกอย่างลงตัว และฟ้าเหมือนกำลังจะเป็นใจ
ปฐมบทแห่งฟุตบอลโลก เริ่มต้นขึ้นที่แดนละตินอเมริกา กับคำว่า “เรามีข้อเสนอที่คุณจะปฏิเสธไม่ได้!!!” ซึ่งไม่ใช่จากภาพยนตร์เรื่อง God Father
สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า ได้รับการยืนยันอย่างหนักแน่นจากประเทศอุรุกวัย ว่า พวกเขาพร้อมมากที่จะเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก สมัยแรก
ชิงถ้วยแชมป์โลกที่เรียกกันในเวลานั้นว่า ถ้วย “วิคตอรี่”
ถ้วยใบแรกเริ่มต้นขึ้นด้วยชื่อ “วิคตอรี่ (Victory)” หรือถ้วยแห่งชัยชนะ แต่ทั่วไปเรียกถ้วยนี้ตรงๆ ว่า World Cup และ Coupe du Monde
โทรฟี่ใบสำคัญนี้รังสรรค์จาก อเดล ลาเฟลอร์ ประติมากรคนดังชาวฝรั่งเศส
ลาเฟลอร์ เกิดที่ โรเดซ์ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส เป็นศิษย์เอกของยอดนักออกแบบคนดังอย่าง จูลส์-เคลมองต์ แชปแลงและฟรองซัวส์-โจเซปห์-ฮูแบร์ต ปองส์คาร์ม
นักเตะทีมชาติฝรั่งเศส เอาเก้าอี้มาซ้อมกันบนเรือที่เดินทางกันอย่างสุดมาราธอน
เขาทำถ้วยจากเงินและทองหนัก 3.8 กิโลกรัม สูง 35 เซนติเมตร ทำจากเงินสเตอร์ลิ่งชุบทอง ส่วนฐานทำด้วยหินอ่อนสีขาวกับสีเหลือง
ทุกอย่างลงตัว กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-30 กรกฎาคม1930 มีทีมเข้าร่วมฟาดแข้งทั้งหมด 13 ชาติ เหตุผลที่มีทีมเข้าร่วมการแข่งขันน้อยเนื่องจากทวีปอเมริกาใต้ นั้นอยู่ไกลและใช้เวลาในการเดินทางนาน ทำให้มีหลายชาติจากยุโรปเลือกที่จะปฏิเสธ และทีมที่ไปก็ไปด้วยกันก็มี!!!
เรือที่ชื่อ “SS Conte Verde” จอดรับบอร์ดบริหารของฟีฟ่า ณ ท่าเรือวิลฟรองเช่-ซูร์-แมร์ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองนีซ ออกเดินทางไปพร้อมกับทีมชาติฝรั่งเศส, เบลเยียม และโรมาเนีย พร้อมกับแวะรับ บราซิล ที่ริโอ เดอ จาเนโร อีกด้วย ส่วน ยูโกสลาเวีย เช่าเรือไปด้วยตัวเอง
ปรากฏว่า สนามแข่งขันเสร็จไม่ทันตามกำหนด โดยเฉพาะ เอสตาดิโอ เซนเตนาริโอ ที่สร้างเพื่อการนี้โดยเฉพาะมีความจุถึง 90,000 ที่นั่ง ทำให้เกมเปิดสนามระหว่าง ฝรั่งเศส กับ เม็กซิโก ต้องไปเล่นที่เอสตาดิโอ โปซิตอส
คาดกันว่า ที่เลือกให้ “ฝรั่งเศส” เตะนัดเปิดสนาม ก็เพื่อเป็นเกียรติให้กับ ริเมต์ ในฐานะประธานฟีฟ่า ซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศส
บันทึกเอาไว้ตลอดกาลว่า วันที่ 13 กรกฎาคม 1930 มีการแข่งขันบอลโลกอย่างเป็นทางการ
“ลูเซียง โลรองต์” นักเตะฝรั่งเศส เป็นผู้ทำประตูแรกในประวัติศาสตร์ในนาทีที่ 19 ก่อนที่ ฝรั่งเศส จะชนะไป 4-1 และมีการบันทึกผู้ชมนัดเปิดสนามไว้ที่ 4,444 คน
นี่คือรุ่งอรุณแห่งฟุตบอลโลก ที่เจิดจ้ามาจนถึงทุกวันนี้
อีก 14 วันพบกันที่แดนทะเลทราย....กาตาร์!!!
บี แหลมสิงห์
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี