ในธรรมชาติมีสิ่งมีชีวิตอยู่หลากหลายชนิด ซึ่งมีลักษณะที่แตกต่างกันไปแต่สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ก็สามารถอาศัยอยู่ในพื้นที่บริเวณเดียวกันได้อย่างสมดุลโดยมีความสัมพันธ์กันในลักษณะต่างๆ เกิดเป็นความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ
ระบบนิเวศ หมายถึง ระบบความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง สิ่งมีชีวิต เช่น พืช สัตว์และจุลินทรีย์ ฯลฯ สิ่งไม่มีชีวิต หรือสภาพแวดล้อม เช่น ดิน น้ำ แสง อุณหภูมิ อากาศและความชื้น ฯลฯ ความสัมพันธ์ ซึ่งหมายถึง การอยู่ร่วมกันในบริเวณใดบริเวณหนึ่ง เกิดการแลกเปลี่ยนสารและถ่ายทอดพลังงานระหว่างกัน องค์ประกอบของระบบนิเวศมี 2 ส่วน ดังนี้
1.องค์ประกอบทางชีวภาพ (biological component) ได้แก่ สิ่งมีชีวิตต่างๆ เช่น พืช สัตว์ มนุษย์ เห็ด ราและจุลินทรีย์ สามารถแบ่งตามหน้าที่ของสิ่งมีชีวิตได้ 3 ประเภท คือ
1.1 ผู้ผลิต (producer) คือ สิ่งมีชีวิตที่สร้างอาหารเองได้ โดยกระบวนการสังเคราะห์แสง เนื่องจากมีสารสีเขียว หรือคลอโรฟิลล์ ได้แก่ พืชสีเขียว สาหร่าย โปรโตซัวบางชนิดที่สามารถนำพลังงานแสงอาทิตย์มากระตุ้นสารอนินทรีย์ให้อยู่ในรูปสารอาหาร มีความสำคัญมากเพราะเป็นจุดเริ่มต้นที่เชื่อมต่อระหว่างสิ่งไม่มีชีวิตและสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศอื่น
1.2 ผู้บริโภค คือ สิ่งมีชีวิตที่ไม่สามารถสร้างอาหารเองได้ ดำรงชีวิตโดยการกินสิ่งมีชีวิตอื่น แบ่งได้ 3 ระดับด้วยกันคือ
-ผู้บริโภคปฐมภูมิ (primary consumer) คือ ผู้บริโภคที่กินพืชเป็นอาหาร (herbivore) โดยตรง เช่น ช้าง ม้า โค กระบือ กระต่าย ปะการัง และเม่นทะเล เป็นต้น
-ผู้บริโภคทุติยภูมิ (secondary consumer) เป็นผู้บริโภคที่กินเนื้อเป็นอาหาร เช่น เสือ สิงโต เหยี่ยว และงู เป็นต้น
-ผู้บริโภคตติยภูมิ (omnivore) เป็นผู้บริโภคที่กินทั้งพืชและสัตว์เป็นอาหาร เช่น คน ไก่ ลิง เต่าและปลาฉลาม เป็นต้น
1.3 ผู้ย่อยสลาย (decomposer) คือ สิ่งมีชีวิตที่ไม่สามารถสร้างอาหารเองได้ อาศัยอาหารจากสิ่งมีชีวิตอื่น โดยสร้างน้ำย่อยมาย่อยสลาย ส่วนประกอบของซากสิ่งมีชีวิต แล้วดูดซึมธาตุอาหารไปใช้ประโยชน์ได้แก่ เห็ด รา แบคทีเรีย และจุลินทรีย์ต่างๆ ที่ย่อยสลายซากพืชซากสัตว์หรืออินทรียสารให้เป็นอนินทรียสารที่พืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้
2.องค์ประกอบทางกายภาพ (physical component) ได้แก่ สิ่งไม่มีชีวิตต่างๆ เป็นองค์ประกอบที่ทำให้เกิดความสมดุลของระบบนิเวศ หากองค์ประกอบสิ่งไม่มีชีวิตจะส่งผลให้สิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศไม่สามารถอยู่ได้ เช่น ดิน น้ำ แสงและอุณหภูมิ เป็นต้น แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่
2.1 อนินทรียสาร เป็นสารที่ได้จากธรรมชาติและเป็นส่วนประกอบแร่ธาตุพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตเพื่อสร้างเนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆ เช่น ธาตุคาร์บอน ไฮโดรเจน น้ำ ออกซิเจน ไนโตรเจน เป็นต้น ส่วนใหญ่อยู่ในรูปสารละลายที่สิ่งมีชีวิตสามารถนำไปใช้ได้ทันที
2.2 อินทรียสาร เป็นสารที่ได้จากสิ่งมีชีวิต เช่น คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ฮิวมัส เป็นต้น เกิดจากการย่อยสลายของจุลินทรีย์ ทำให้ซากสิ่งมีชีวิตเน่าเปื่อยผุพังกลายเป็นธาตุอาหารสำหรับพืช
2.3 สภาพแวดล้อมทางกายภาพ เช่น แสงสว่าง อุณหภูมิ ความชื้น ความเป็นกรด-เบส เป็นต้น สภาพแวดล้อมที่แตกต่างทำให้การดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศนั้นแตกต่างกันออกไป
ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ แบ่งออกเป็น
1.ภาวะแข่งขัน (competition: -,-) เป็นการอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิตที่ทั้ง 2 ฝ่าย ต่างแก่งแย่งกัน เช่น นกพิราบและนกเขาแย่งกันกินอาหาร และผักตบชวาแข่งขันกันแพร่พันธุ์ในคลอง เป็นต้น
2.ภาวะปรสิต (parasitism: +,-) เป็นการอยู่ร่วมกันที่สิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งอาศัยอยู่กับสิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่ง โดยผู้อาศัยได้รับประโยชน์ผู้ถูกอาศัยเสียประโยชน์ เช่น พยาธิใบไม้ในตับของคน กาฝากกับต้นไม้ใหญ่เห็บกับสุนัข และหนอนผีเสื้อกับต้นไม้ที่เป็นอาหาร เป็นต้น
3.ภาวะล่าเยื่อ (predation: +,-) เป็นการอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิต โดยสิ่งมีชีวิตหนึ่งได้ประโยชน์จากการกินสิ่งมีชีวิตอื่นเป็นอาหาร เรียกว่าผู้ล่า และสิ่งมีชีวิตที่เสียประโยชน์หรือตกเป็นอาหาร เรียกว่า เหยื่อ เช่น กบกินแมลง งูกินกบ ตั๊กแตนกินหญ้า หม้อข้าวหม้อแกงดักแมลงเป็นอาหาร เสือล่ากวางเป็นอาหาร และมนุษย์จับปลาเป็นอาหาร เป็นต้น
4.ภาวะเกื้อกูลหรืออิงอาศัย (commensalism: +,0) เป็นการอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิตที่ฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์ อีกฝ่ายไม่ได้และไม่เสียประโยชน์ เช่น ชายผ้าสีดา กล้วยไม้บนต้นไม้ใหญ่ เหาฉลามกับปลาฉลาม และไลเคนบนเปลือกไม้ เป็นต้น
5.ภาวะการได้ประโยชน์ร่วมกัน (protocooperation: +,+) เป็นการอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิต ที่ต่างฝ่ายต่างได้รับประโยชน์ สามารถแยกกันอยู่ได้ ไม่จำเป็นต้องอยู่ด้วยกันตลอดเวลา เช่น นกเอี้ยงกับควาย นกเอี้ยงกินเห็บและเตือนภัยให้กับควาย และแมลงดูดน้ำหวานจากดอกไม้ แมลงช่วยผสมเกสรให้ดอกไม้ มดดำกับเพลี้ย เป็นต้น
6.ภาวะพึ่งพากันและกัน (mutualism: +,+) เป็นการอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิต ที่ต่างฝ่ายต่างได้รับประโยชน์แต่ไม่สามารถแยกจากกันได้ เช่น ไลเคนซึ่งเป็นการอยู่ร่วมกันระหว่างราและสาหร่าย สาหร่ายสร้างอาหารเองได้ แต่ต้องอาศัยความชื้นจากราและราได้อาหารจากสาหร่าย ปลวกกับโปรโตซัวในลำไส้ปลวก ปลวกกินไม้เป็นอาหารแต่ในลำไส้ปลวกไม่สามารถย่อยเซลลูโลสได้ ต้องอาศัยโปรโตซัวในลำไส้ของปลวกช่วยย่อยเซลลูโลสเพื่อเป็นอาหาร สำหรับปลวกและโปรโตซัวได้อาหารจากการย่อยนี้ด้วย และแหนแดงกับ Anabaena/Nostoc เป็นต้น
7.ภาวะเป็นกลาง (neutralism: 0,0) สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้เป็นอิสระ ไม่ให้และไม่เสียประโยชน์ต่อกันไม่เกี่ยวข้องกัน เช่น เสือกับหญ้า และนกกับกระต่าย เป็นต้น
ดังนั้น ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายดังที่ได้กล่าวมาแล้วสามารถพบได้ในระบบนิเวศตั้งแต่ระบบนิเวศขนาดเล็กไปจนถึงระบบนิเวศขนาดใหญ่ และมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงขนาดของประชากรในระบบนิเวศ
เอกสารอ้างอิง
พจนา เพชรคอน. 2556. ภาวะความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตในสิ่งแวดล้อม. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: https://www.scimath.org/
lesson-biology/item/9796-2019-02-21-07-11-20, [เข้าถึงเมื่อ 25 ธันวาคม 2564].
วีรวัช เอนกจำนงค์พร. ม.ป.ป. BiomapFull_v06 ชีววิทยา01. กรุงเทพฯ : มปท., 283 หน้า.
ศุภณัฐ ไพโรหกุล. 2562. ชีววิทยา. กรุงเทพฯ : บริษัทแอคทีฟ พริ้นท์ จำกัด, 567 หน้า.
อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์. 2564. ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:
http://www.waghor.go.th/v1/elearning/nature/our_world1.php,
[เข้าถึงเมื่อ 25 ธันวาคม 2564].
ชลธิชา นิวาสประกฤติ, บุญเรียม น้อยชุมแพ
และ จันทรา ปานขวัญ
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี