วันที่ 7 มกราคม 2566 สื่อต่างประเทศรายงานข่าวการเสียชีวิตของ จิอันลูกา วิอัลลี (Gianluca Vialli) อดีตนักฟุตบอลทีมชาติอิตาลี ซึ่งเคยคุมทีมดังในศึกพรีเมียร์ลีกอังกฤษอย่าง “สิงโตน้ำเงินคราม” เชลซี โดยเว็บไซต์ นสพ.Daily Mail ของอังกฤษ เสนอข่าว 'A warrior who wouldn't stop fighting': Football fans across the world mourn the loss of former Italy and Chelsea striker Gianluca Vialli following his death aged 58 after a long battle with cancer ระบุว่า วิอัลลี เสียชีวิตจากโรคมะเร็งตับอ่อน หลังพยายามต่อสู้กับอาการป่วยมานาน
การเสียชีวิตของ วิอัลลี เกิดขึ้นไล่เลี่ยกับนักเตะระดับตำนาน ซินิซา มิไฮโลวิช (Sinisa Mihajlovic) พ่อมดฟรีคิกแห่งยูโกสลาเวีย และ เปเล่ (Pele) เทพเจ้าลูกหนังชาวบราซิล โดยทั้ง 3 เสียชีวิตห่างกันเพียง 3 สัปดาห์ ทั้งนี้ หลังข่าวการเสียชีวิตของ จิอันลูกา วิอัลลี ถูกเผยแพร่ออกไป แฟนบอลต่างพากันโพสต์ข้อความไว้อาลัยผ่านสื่อสังคมออนไลน์ อาทิ แฟนบอลรายหนึ่ง โพสต์ข้อความว่า “ตำนานเกมอิตาลี ผู้บุกเบิกเกมอังกฤษ และนักรบผู้ไม่เคยหยุดต่อสู้ตราบจนวาระสุดท้ายของเขา หลับให้สบายเถิด จิอันลูกา วิอัลลี”
หรือแฟนบอลอีกรายที่โพสต์ข้อความว่า “น่าเศร้ามากที่ได้ยินข่าวเกี่ยวกับ จิอันลูกา วิอัลลี เมื่อเช้านี้ หนึ่งในดาราต่างชาติที่พวกเราในยุคหนึ่งยกย่องให้เติบโตมากับฟุตบอลอิตาลีใน C4 จากนั้นพบว่าเขาไม่ใช่แค่ผู้เล่นที่ยอดเยี่ยมเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้ชายที่ยอดเยี่ยมอีกด้วย มีภูมิธรรม มีความรู้เฉลียวฉลาด RIP #วิอัลลี” หรืออีกความเห็นที่ว่า “นี่เป็นข่าวที่น่าเศร้าอย่างยิ่ง วิอัลลีเป็นไอคอนของหลายๆ คนที่ดูฟุตบอลในยุค 90 และเป็นนักเตะคนไหน RIP จิอันลูก้า”
จิอันลูกา วิอัลลี ติดทีมชาติอิตาลีร่วมฟาดแข้งในศึกฟุตบอลโลก 1986 และ 1990 หรือปี 2529 และ 2533 ตามลำดับ เคยเล่นให้สโมสรยูเวนตุส ในลีกกัลโช เซเรีย อา ของอิตาลี ชุดความแชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ในปี 2539 จากนั้นย้ายมารวมทีมเชลซีในอังกฤษทั้งในฐานะผุ้เล่นและผู้จัดการทีม จนได้รับความนิยมจากแฟนบอลในถิ่นสแตมฟอร์ด บริดจ์ จากผลงานคว้าแชมป์ถ้วยรองของสโมสรยุโรปในถ้วยคัพ วินเนอร์ส คัพ และบอลถ้วยเล็กในลีกอังกฤษอย่างลีก คัพ ในปี 2541 รวมถึงบอลถ้วยใหญ่ในอังกฤษอย่าง เอฟเอ คัพ ในปี 2543
รายงานของ Daily Mail ยังกล่าวอีกว่า วิอัลลี ได้รับการยืนยันว่าป่วยเป็นมะเร็งในเดือน เม.ย. 2563 และยืนยันผลอีกครั้งในปี 2564 สำหรับงานสุดท้ายของเขาคือการคุมทีมชาติอิตาลี โดยเพิ่งขอลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2565 หลังอาการป่วยกำเริบรุนแรงขึ้น เพื่อไปรักษาตัวในกรุงลอนดอนของอังกฤษ ก่อนจะเสียชีวิตในวันที่ 5 ม.ค. 2566 ตามเวลาท้องถิ่นของอังกฤษ
เว็บไซต์สถานีวิทยุ Radio France Internationale (RFI) ของฝรั่งเศส เสนอข่าว Gianluca Vialli: clubbable gentleman off the pitch, deadly on it ระบุว่า จิอันลูกา วิอัลลี ต่อสู้กับมะเร็งตับอ่อนมาตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งเขาเรียกมันว่า “แขกที่ไม่ต้องการ” ซึ่งในยุคหนึ่ง ชายผู้นี้คือนักเตะที่ค่าตัวแพงที่สุดในโลก โดยสถิติดังกล่าวงเกิดขึ้นในปี 2535 ในลีกอิตาลี เมื่อสโมสรยูเวนตุส ทุ่มเงินถึง 16.5 ล้านยูโร ดึงตัวมาจากสโมสรซามพ์โดเรีย ก่อนอำลาอาชีกนักเตะอย่างยิ่งใหญ่กับสโมสรเชลซีในอังกฤษ
สำหรับประวัติของ จิอันลูกา วิอัลลี มีพื้นเพจากครอบครัวที่ร่ำรวยในเมืองเครโมนา ทางภาคเหนือของอิตาลี แต่เลือกสร้างตำนานให้กับตนเองด้วยเส้นทางในวงการลูกหลัง โดยในยุค 1980-1990 เขาคือดาวเด่นของซามพ์โดเรีย คู่กับ โรแบร์โต มันซินี (Roberto Mancini) เกียรติประวัติ 8 ปีกับซามพ์โดเรีย วิอัลลี ร่วมพาทีมคว้าแชมป์เซเรีย อา ในปี 2534 และถ้วยคัพ วินเนอร์ส คัพ ในปี 2533 และบอลถ้วยของลีกอิตาลี อย่างโคปา อิตาเลีย ถึง 3 สมัย รวมถึงรองแชมป์ยูโรเปียน คัพ (ปัจจุบันคือยูฟา แชมเปียนส์ ลีก) ในปี 2535 โดยแพ้ทีมยักษ์ใหญ่จากสเปนอย่างบาร์เซโลนา
หลังออกจากทีมยูเวนตุส จิอันลูกา วิอัลลี ย้ายข้ามจากแผ่นดินใหญ่ของยุโรปเข้าไปในอังกฤษในฐานะผู้เล่นของเชลซี ที่นั่นเขากับเพื่อนร่วมชาติอิตาลีอย่าง โรแบร์โต ดิ มัทเทโอ (Roberto Di Matteo) และ จิอันฟรังโก โซลา (Gianfranco Zola) ได้เปลี่ยนให้สิงโตน้ำเงินครามจากที่ห่างหายความสำเร็จไปนาน กลายเป็นทีมที่มีโอกาสลุ้นแชมป์ทั้งบอลลีกและบอลถ้วย
ในฐานะผู้เล่น วิอัลลี คว้าแชมป์แรกกับเชลซีในถ้วยเอฟเอ คัพ ในปี 2540 ซึ่งเป็นแชมป์แรกของสโมสรในรอบ 26 ปี จากนั้นได้ควบตำแหน่งผู้จัดการทีมภายหลัง รุด กุลลิท (Ruud Gullit) ถูกปลดออก กระทั่งหลังปี 2543 ซึ่งพาทีมคว้าแชมป์เอฟเอ คัพ เชลซีก็ได้แต่งตั้งให้ เคลาดิโอ ราริเอรี (Claudio Ranieri) เป็นผู้จัดการทีมเชลซีในฤดูกาลต่อไป อย่างไรก็ตาม วิอัลลี ยังได้งานคุมทีมวัตฟอร์ต จนขอเปลี่ยนอาชีพไปเป็นผู้บรรยายและวิจารณ์ฟุตบอลในสถานีโทรทัศน์ที่อิตาลี ด้วยเหตุผลว่าเป็นงานที่เครียดน้อยกว่าการทำหน้าที่โค้ช รวมถึงชีวิตที่มีครอบครัวแล้ว ถึงกระนั้น ด้วยความผูกพันกับทีมเชลซี เขาจึงอาศัยอยู่ในกรุงลอนดอน จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต
แม้จะโดดเด่นในระดับสโมสร แต่กับทีมชาติอิตาลีกลับไม่เป็นเช่นนั้น จิอันลูกา วิอัลลี ลงสนามรับใช้ชาติไป 59 นัด ยิงได้ 16 ประตู โดยฟุตบอลโลก 1990 ตำแหน่งของเขาถูกแทนที่โดย โรแบร์โต บาจโจ (Roberto Baggio) และ โตโต สกิลลาซี (Toto Schillaci) การลงเล่นนัดสุดท้ายในนามทีมชาติเกิดขึ้นในปี 2535 ด้วยอายุ 20 ปลายๆ ทั้งที่เวลานั้นเขายังทำผลงานได้ดีกับยูเวนตุส ที่ไปถึงแชมป์ทั้งลีกในประเทศและถ้วยสโมสรยุโรป
ผลงานครั้งสุดท้ายของเขาคือการเข้ามาคุมทีมชาติอิตาลีในปี 2559 โดยมีเพื่อนเก่าอย่าง โรแบร์โต มันซินี เป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอน ซึ่งพลพรรค “อัซซูรี” นั้นคว้าแชมป์ยูโร 2020 จากการดวลจุดโทษชนะ “สิงโตคำราม” ทีมชาติอังกฤษ ภาพของ 2 สหายที่ลุยมาด้วยกันตั้งแต่ยังเป็นนักเตะ ได้โผเข้ากอดกันอีกครั้งด้วยน้ำตาแห่งความปลื้มปีติในฐานะผู้จัดการทีมและเฮดโค้ช กลายเป็นฉากที่ตรึงอารมณ์ของผู้ทีได้ชมเกมนัดชิงชนะเลิศในครั้งนั้น
หมายเหตุ : ในอดีตการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์ระดับสโมสรของทวีปยุโรป จะมีทั้งหมด 3 ถ้วย เรียงลำดับจากใหญ่สุดไปเล็กสุด คือยูโรเปียน คัพ , คัพ วินเนอร์ส คัพ และยูฟา คัพ แต่ต่อมาได้ลดลงเหลือ 2 ถ้วย โดยยูโรเปียน คัพ เปลี่ยนชื่อเป็น ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก ส่วนคัพ วินเนอร์ส คัพ ถูกยกเลิก และยูฟา คัพ เปลี่ยนชื่อเป็น ยูฟายูโรปาลีก จนถึงปัจจุบัน
ขอบคุณเรื่องจาก
https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-11606123/A-legend-Italian-game-Football-fans-world-mourn-loss-Gianluca-Vialli.html
https://www.rfi.fr/en/sports/20230106-gianluca-vialli-clubbable-gentleman-off-the-pitch-deadly-on-it
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี