“ดาหลา” เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดบริเวณป่าร้อนชื้นของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย พม่า อินโดนีเซีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เป็นต้น แต่ในตำราบางฉบับได้กล่าวไว้ว่าถิ่นกำเนิดของดาหลาอยู่ ณ แถบหมู่เกาะในมหาสมุทรอินเดีย
ดาหลา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Etlingera elatior (Jack) R.M. Smith และมีชื่ออื่นๆ หรือชื่อท้องถิ่น ดังนี้ กาหลา กะลา กาลา จินตะหลา ข่าน้ำ หน่อกะลา (ทั่วไป) ปุด ปุดกะลา (ภาคใต้)
สำหรับในประเทศไทย ดาหลาเป็นไม้ดอกท้องถิ่นทางภาคใต้ชนิดหนึ่ง นิยมปลูกมากในเขตจังหวัดยะลา นราธิวาส มาเป็นระยะเวลานาน ในอดีตมีการนำหน่ออ่อนและดอกของดาหลามาใช้เป็นผักประกอบอาหารเหมือนผักทั่วไป ปัจจุบันสามารถพบดาหลาได้ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยพบได้ทั้งในธรรมชาติและพบตามอาคารบ้านเรือน สวนสาธารณะ หรือการปลูกเพื่อจำหน่ายในสวนในไร่ แต่จะพบได้มากทางภาคใต้ เพราะในภาคใต้นำดาหลามาใช้ประโยชน์ตั้งแต่อดีตแล้ว
ประโยชน์และสรรพคุณ ใช้ขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ แก้ลมพิษ แก้โรคผิวหนัง แก้เสมหะ แก้ปวดศีรษะ แก้ความดันสูง แก้เลือดออกตามไรฟัน แก้โรคประดง ช่วยบำรุงเตโชธาตุ แก้แน่นหน้าอก ช่วยต้านอนุมูลอินสะ ช่วยต้านมะเร็ง และช่วยป้องกันโรคเก๊าท์
ลักษณะทั่วไป ดาหลาจัดเป็นไม้ล้มลุก มีลำต้นหรือเหง้าอยู่ใต้ดิน ซึ่งจะเป็นบริเวณที่เกิดของหน่อดอกและหน่อต้นส่วนลำต้นเหนือดินเป็นกาบใบที่โอบซ้อนกันแน่นคล้ายข่า เรียกว่าลำต้นเทียม โดยลำต้นเทียมที่อยู่เหนือดินจะมีสีเขียวเข้ม สูงประมาณ 2-5 เมตร ใบออกเป็นใบเดี่ยวมีลักษณะคล้ายใบข่าเป็นรูปทรงยาวเรียว ปลายใบแหลม โคนใบสอบแคบเข้าหาก้านใบ ใบกว้างราว 15-20 เซนติเมตร ยาวราว 30-40 เซนติเมตร ไม่มีก้านใบ ใบเป็นสีเขียวเข้มเป็นมันผิวใบเกลี้ยง ดอกออกเป็นดอกเดี่ยวเป็นช่องอกขึ้นจากเหง้าใต้ดิน ก้านดอกมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1-2 เซนติเมตร และยาว 50-150 เซนติเมตร ส่วนกลีบดอกจะหนา ผิวเรียบเป็นมันวาวคล้ายพลาสติก กลีบดอกด้านนอกมีขนาดใหญ่และค่อยๆ ลดขนาดลงเข้าสู่ด้านใน ตรงศูนย์กลางดอกเป็นเกสร เกาะติดกันเป็นกลุ่ม
ใบประดับรอบนอกแผ่น ใบประดับชั้นใน มีขนาดลดหลั่นกัน เกสรผู้มีสีเลือดหมูเข้ม ขอบขาวหรือเหลือง เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์มี 1 อัน อับเรณูสีแดง และเมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดความกว้างประมาณ 10-16 เซนติเมตร
ส่วนสีของดอกขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 4 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ดอกสีชมพู สีแดง สีขาว และสีชมพูอ่อน ส่วนผลมีรูปกลมและมีขนนุ่มข้างใน มีเมล็ดสีดำหลายเมล็ด
จากความหลากหลายของสรรพคุณทางยาของดาหลาดังกล่าว สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยระดับประเทศและเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัด กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาสารสกัดจากดอกดาหลา โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร (ศนส.) วว. ประสบผลสำเร็จพัฒนาเป็น “ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากสารสกัดดอกดาหลา” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติและสมุนไพร ที่นำภูมิปัญญาพื้นบ้านไทยผสานกับเทคโนโลยีในการสกัดสารสำคัญด้วยวิทยาการอันทันสมัย โดยสามารถนํามาใช้เป็นเอกลักษณ์และจุดขายในธุรกิจเครื่องสำอางจากธรรมชาติ ซึ่งมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล
ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากสารสกัดดอกดาหลามีประสิทธิภาพช่วยลดเลือนริ้วรอย ลดอาการแดง อาการระคายเคืองบนผิว และลดรอยดำที่จากสิว มีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อ P.acnes, S. epidemidis และ S.aureus ที่เป็นสาเหตุหนึ่งที่สำคัญในการเกิดสิว ช่วยยับยั้งเอ็นไทโรซิเนสและการสังเคราะห์เม็ดสีผิว ทำให้ผิวกระจ่างใส กระตุ้นการสร้างคอลลาเจนใต้ผิวหนัง มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ลดการอักเสบที่ถูกกระตุ้นด้วยอนุมูลอิสระ เพิ่มความชุ่มชื้นแก่ผิวหนังเพื่อผิวที่เรียบเนียน รูขุมขนกระชับขึ้น
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมหรือรับบริการจาก ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร (ศนส.) วว. ติดต่อได้ที่ โทร.02-5779104 E-mail : innoherb_service@tistr.or.th
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี