ผิวหนัง เป็นอวัยวะที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย มีส่วนสำคัญในการช่วยป้องกันอันตรายจากภายนอก ซึ่งภายใต้ผิวหนังมีต่อมรับความรู้สึกอยู่มากมายเพื่อรับรู้การสัมผัส แรงกด ความเจ็บปวด และอุณหภูมิภายนอก อีกทั้งยังมีหน้าที่สำคัญในการควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย รวมทั้งยังมีบทบาทในการขับเหงื่อและไขมัน นอกจากนี้ยังทำหน้าที่รายงานความผิดปกติของร่างกายโดยจะแสดงออกมาทางผิวหนัง เช่น อาการหน้าแดง ผื่นแดงขึ้น เนื่องจากการแพ้ยาหรือการแพ้อาหาร
พื้นที่ของผิวหนังในร่างกายมนุษย์มีประมาณ 2 ตารางเมตร หนักประมาณ 4.5-5 กิโลกรัม ความหนาโดยเฉลี่ย 1-2 มิลลิเมตร ผิวหนังบางที่สุด คือที่หนังตา หนาประมาณ 0.5 มิลลิเมตร หนาที่สุดที่ส้นเท้าประมาณ 4 มิลลิเมตร ผิวหนังประกอบด้วย 3 ชั้น ได้แก่
1.ชั้นหนังกำพร้า (Epidermis) เป็นชั้นที่อยู่ด้านบนสุดของผิวหนัง คือชั้นที่เรียกว่า ฮอร์นี่เลเยอร์ (horny layer) หรือที่รู้จักอีกชื่อว่า “ผิวหนังชั้นตื้น” หนังกำพร้าเป็นเนื้อเยื่อชั้นนอกสุดของผิวหนังที่ปกคลุมไปเกือบทั้งหมดของร่างกาย ไม่มีเส้นเลือดมาหล่อเลี้ยง จึงต้องรับสารอาหารจากหนังแท้เท่านั้น ซึ่งในชั้นหนังกำพร้านี้มีเซลล์ที่ชื่อ เมลาโนไซด์ (Melanocyte) ทำหน้าที่ในการสร้างเม็ดสีเมลานิน (Melanin) ทำให้สีผิวของแต่ละคนมีสีที่แตกต่างกัน เซลล์ใน horny layer จะถูกจับยึดกันไว้ด้วยไลปิด แบริเออร์ (lipids barriers) ซึ่งทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันและมอยส์เจอไรเซอร์ให้ความชุ่มชื้น ถ้าผิวของเราขาดไลปิดจะทำให้ผิวแห้งหยาบ ลอกเป็นขุย หน้าที่หลักของหนังกำพร้าคือ การป้องกันอวัยวะภายในจากแสงแดด น้ำ และสารพิษต่างๆ รวมถึงเชื้อโรคไม่ให้เข้าสู่ร่างกาย อีกทั้งยังมีหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิของร่างกายด้วยการขับเหงื่อ และยังมีส่วนช่วยในการขับของเสียออกจากร่างกาย
2.ชั้นหนังแท้ (Dermis) เป็นชั้นผิวหนังที่อยู่ถัดจากชั้นหนังกำพร้า มีลักษณะเหมือนคลื่นอยู่ใต้ชั้นผิวหนังกำพร้าเป็นชั้นที่ความหนา และมีความยืดหยุ่น องค์ประกอบหลักที่พบในชั้นหนังแท้จะประกอบไปด้วยโปรตีน 2 ชนิด ได้แก่ เนื้อเยื่อคอลลาเจน (Collagen) ที่มีส่วนช่วยทำให้ผิวหนังแข็งแรง และช่วยในการซ่อมแซมผิวหนังที่สึกหรอ ถ้าสร้างในปริมาณที่มากเกินไปจะเกิดเป็นแผล และเนื้อเยื่ออีลาสติน (Elastin) จะช่วยให้ผิวหนังมีความยืดหยุ่น ในเนื้อเยื่อส่วนนี้ยังเป็นที่อยู่ของหลอดเลือด ประสาทรับความรู้สึก ต่อมไขมัน ต่อมน้ำเหลือง และต่อมเหงื่อ โดยต่อมเหงื่อมีส่วนสำคัญในการปรับอุณหภูมิในร่างกาย การขับเหงื่อมีส่วนช่วยในการระบายความร้อนออกจากร่างกาย ในขณะที่อาการขนลุกเป็นการป้องกันการสูญเสียความร้อนออกจากร่างกาย จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเมื่ออากาศร้อน เราถึงเหงื่อออก และในขณะที่อากาศหนาวจะเกิดอาการขนลุกเกิดขึ้น
3.ชั้นใต้ผิวหนัง (Subcutaneous Fat Layer or Hypodermis) หรือ “ชั้นไขมัน” ประกอบด้วยเซลล์ไขมันเป็นหลัก มีลักษณะเหมือนคลื่นอยู่ใต้ชั้นผิวหนังกำพร้า จำนวนของเซลล์ไขมันที่อยู่ในชั้นไขมันจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละส่วนของร่างกาย แต่ละคนมีขนาดไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับจำนวนปริมาณไขมันสะสมของแต่ละคน นอกจากนี้การกระจายตัวของไขมันยังมีความแตกต่างกันระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย ผิวหนังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลาของชีวิต ชั้นไขมันจะทําหน้าที่ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย และช่วยลดแรงกระแทกจากภายนอก ชั้นไขมันจะพบเจอได้มากในบริเวณสะโพก เอว ต้นขา หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า “เซลลูไลต์” (Cellulite) ซึ่งสามารถพบเจอได้แม้ในคนที่มีรูปร่างผอม เซลล์ไขมันในชั้นไขมันจะคอยเก็บรักษาพลังงานและสารอาหารไว้ เพื่อส่งมาเลี้ยงเซลล์ผิวโดยผ่านทางหลอดเลือด
การฟื้นฟูและซ่อมแซมผิวหนังมีหลายกระบวนการ เช่น หากเกิดบาดแผล เนื้อเยื่อมีการฉีดขาด จะกระตุ้นให้เกิดกระบวนการ platelet aggregation รวมไปถึงกระบวนการแข็งตัวของเลือด หรือ coagulation เกิดการตายของเซลล์และเนื้อเยื่อรอบแผล ซึ่งจะถูกทำลายโดยเอ็นไซม์ จากนั้นจะมีการหลั่งสารสำคัญหลายตัวซึ่งจะกระตุ้นให้เม็ดเลือดขาวมารวมตัวกันที่บาดแผลโดยมีหน้าที่ทำลายแบคทีเรีย และเซลล์ต่างๆ ที่ตายแล้ว หลังจากนั้นจะเกิดการสร้างเส้นเลือดใหม่และสร้างคอลลาเจน รวมไปถึงกระบวนการเสริมสร้างเซลล์ผิวใหม่ (epithelisation) ด้วย
ทั้งนี้ การเสื่อมของผิวหนังมีปัจจัยทั้งจากภายในและภายนอกร่างกาย เป็นสิ่งที่ทุกคนไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เมื่อคนเรามีอายุมากขึ้นเซลล์ผิวหนังจะมีอายุสั้นลง การสร้างสารประกอบในผิวหนังจะค่อยๆ ลดลง เกิดรอยฟกช้ำง่ายขึ้น การหายของแผลจะช้าลงกว่าคนวัยหนุ่มสาวถึงเท่าตัว ความสามารถในการสร้างน้ำมันได้น้อยลง ทำให้ผู้สูงอายุมีผิวที่แห้งคัน รวมทั้งการสร้างเส้นใยคอลลาเจนและอีลาสตินในปริมาณที่น้อยลง ซึ่งจะทำให้เกิดริ้วรอย รอยย่น ผิวหนังหย่อนคล้อย โดยจะเห็นได้ชัดบริเวณหนังตา ข้างแก้ม ใต้คอ และคาง
ส่วนปัจจัยภายนอกร่างกาย ได้แก่ ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น แสงแดด โดยเฉพาะรังสียูวีเอที่มากับแสงแดด ทำให้ร่างกายเกิดการสร้างสารอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำลายเซลล์ผิวหนังของเรา ทำให้เกิดสีผิวไม่สม่ำเสมอ เกิดกระ เส้นเลือดขยายตัว ตุ่มและก้อนตามผิวหนัง รวมทั้งมะเร็งผิวหนัง แต่การเสื่อมจากปัจจัยภายนอกนี้ไม่ได้เกิดกับทุกคน อาจเกิดได้กับผู้ที่สัมผัสกับปัจจัยดังกล่าวทั้งจากทางตรงและทางอ้อม นอกจากนี้ การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาก การรับประทานอาหารไม่เพียงพอ เป็นปัจจัยจากภายนอกร่างกายที่ส่งเสริมให้เซลล์ผิวหนังของเราเสื่อมก่อนวัยอันควรได้
เรียบเรียงข้อมูลจาก
https://www.eucerin.co.th/about-skin/basic-skin-knowledge/skin-structure-and-function
https://ngthai.com/science/17234/integumentarysystem/
https://www.vibhavadi.com/Health-expert/detail/553
https://www.rama.mahidol.ac.th/atrama/issue012/beauty-full
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี