เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางจากแมทช์ระหว่าง เลสเตอร์ ซิตี้ กับท็อตแน่ม ฮ็อทสเปอร์ มีอันต้องยกเลิกการแข่งขัน
สเปอร์ส มาไทยหนแรก แต่แฟนบอลต้องเจอกับเรื่องที่ต้องใช้คำว่า “ฝันร้ายกลางวันแสกๆ” เพราะบอลเตะไม่ได้ อันเนื่องมาจาก “สภาพสนาม” ที่ไม่อาจจะรับไหวกับ“สภาพอากาศ” ที่ฝนกระหน่ำลงมาติดต่อกัน
จนกระทั่งวันแข่งจริงก็ “ตกก่อนเกม” 1 ชั่วโมงพอดิบพอดี กระทั่งเกมต้องยกเลิกในเวลา 17.45 น.
มีวลีที่อาจจะสร้างความ “เข้าใจผิด” ให้กับหลายคนตรงที่ว่า “สนามมีไว้จัดคอนเสิร์ต” ไม่ใช่ “สนามกีฬา” นั่นอาจแค่ความโมโหในจุดสตาร์ทของหลายคน แต่
แท้ที่จริงแล้ว สนามกีฬาใหญ่ๆ ตามเมืองต่างๆ ก็รองรับการจัดกิจกรรมใหญ่ๆ อาทิ คอนเสิร์ตกันทั่วทั้งโลก
เพื่อเงินหมุนเวียน เพื่อการหารายได้การเปิดตัวชื่อไปทั่วโลก อย่างในสหรัฐอเมริกา หรือในอังกฤษ คอนเสิร์ตก็มาลงสนามบอลเป็นประจำอยู่แล้ว
ขึ้นอยู่กับว่าสนามแห่งนั้น สถานที่นั้นๆจะ “รับมือ” ได้ยังไงได้บ้าง
มีคู่มือในการรับมือหรือไม่
น่าสนใจตรงที่ว่า รางวัลสนามยอดเยี่ยมประจำซีซั่น (Premier League Ground of The Season) หรือที่คนไทยมาเรียกให้มันตลกไปเรื่อยว่า “แชมป์หญ้าสวย” นั้น
ปรากฏว่า 2 ฤดูกาลหลังสุดเป็นของ สเปอร์สและเลสเตอร์ ด้วยความบังเอิญแบบพอดี!!!
สเปอร์ส ได้ปี 2022 ส่วน เลสเตอร์ ซีซั่นนี้เลย 2023 เรื่องพวกนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ
เกณฑ์การคัดเลือกจะพิจารณาจากหลายปัจจัย ทั้งทางด้านสภาพพื้นสนาม,คุณภาพของสนาม, การใช้งาน, สภาพแวดล้อมเพื่อเฟ้นหาสโมสรที่ดูแลสนามได้ดีที่สุดตลอดทั้งฤดูกาล
ตัวอย่างคือ สนามของ สเปอร์สมีฟีเจอร์มากมายที่ทีมอื่นไม่มี เนื่องจากสร้างเสร็จปี 2020 พวกเขามีระบบที่น่าสนใจของพื้นสนาม
ดาร์เรน บอลด์วิน เป็นหัวหน้าฝ่ายพื้นผิวการเล่นและเอสเตทส์ ทำงานกับ เวย์น บิลลิ่ง ในฐานะผู้จัดการ และทีมงานได้จัดเตรียมพื้นผิวสนาม รับมือเฉพาะพรีเมียร์ลีก ก็การันตีแล้ว 19 เกม แถมยังได้จัดการสนามไม่ใช่แค่ฟุตบอลอย่างเดียวเท่านั้น
สเปอร์ส ใช้สนามนี้จัดมาแล้วทั้งศึกอเมริกัน ฟุตบอล เอ็นเอฟแอล, การชกมวยระหว่าง แอนโธนี่ย์ โจชัว กับ โอเล็กซานเดอร์อุซิค, รักบี้ลีก ชาลเลนจ์ คัพ หรือจะเป็นคอนเสิร์ต Guns N’ Roses, Lady Gaga, Beyoncé เป็นอาทิ
ที่สำคัญก็คือ Red Hot Chili Peppers เพิ่งแสดงไปเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมานี้เอง!!!
ดังนั้น รางวัล “Grounds Team” จึงเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ไม่เพียงแต่สำหรับการทำงานของพวกเขาตลอดเวลา เพื่อให้พื้นผิวสนามในการเล่นไม่มีที่ติ แต่ยังรวมถึง
วิธีที่ทีมงานจะต้องปรับเปลี่ยนและใช้วิธีการบุกเบิกในสนาม “พรมไฮบริด” หรือ“hybrid carpet”
นี่คือเรื่องของเทคโนโลยีที่เข้ามาเกี่ยวข้อง
สนามจะถูกปรับปรุงใหม่ทุกปี เมื่อจบซีซั่น จะเอาพื้นหญ้าออก และรีไซเคิลเรานำทรายออก, รีไซเคิลพลาสติก โดยหญ้าเอาไปทำปุ๋ยหมัก และเรานำทรายทั้งหมดกลับมาใช้ใหม่ในโครงการจัดสวน แนวทางปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
เรื่องเทคนิคในการก่อสร้าง และรักษาพื้นผิวหลังจากออกแบบสนามจะเป็นอย่างไร เมื่อสนามสนามแบบ “เลื่อนได้” ทีมจึงคิดวิธีที่เอาชนะความท้าทายที่มาพร้อม
กับมัน หลังจากสนามเดิมคือ ไวท์ ฮาร์ท เลนมีระบบระบายน้ำแคมเบอร์แบบเก่า แต่สนามแบบใหม่จะต้องราบเรียบทั้งหมดเพื่อให้เราสามารถเลื่อนสนามทั้งแผง ไปใต้สแตนด์ฝั่งทางทิศใต้ได้ด้วย
สนามไฮบริดเป็นแบบกึ่งเทียม ส่วนใหญ่มีเกลียวพลาสติกที่เย็บลึกแปดนิ้วและเป็นฐานที่มั่นคงสำหรับปลูกหญ้า ซึ่ง ดาร์เรนบอลด์วิน บอกว่า บอลหยุดเตะ แต่เราไม่มีสิทธิ์หยุดตาม ตอนที่คิด “พรมไฮบริด” ขึ้นมา มีส่วนรองรับใต้ความสูงของเส้นพลาสติก 40-50 มม. ทำให้สามารถปลูกมันนอกไซส์ได้ที่ฟาร์มสนามหญ้าในลินคอล์น ตอนที่เก็บหญ้า ก็ต้องม้วนให้หนาขึ้น 40 มม. แล้ววางสนามหญ้าใหม่อีกครั้งในสนามกีฬาเมื่อคุณจัดวางเรียบร้อย คุณจะสามารถลงเล่นในวันถัดไปได้ทันที
ดาร์เรนระบุว่า คำถามที่ว่า “จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าฝนตกระหว่างเล่นรักบี้” แต่คำตอบก็ชัดเจน โครงสร้างที่ทันสมัยของพื้นผิว ทำให้สามารถดูดน้ำออกจากพื้นผิวได้มันเป็นพื้นผิวการเล่นที่ไฮเทคที่สุด และเรานำเทคโนโลยีมาใช้
“ตัวอย่างเช่น เมื่อเรามีเกม NFL สนามอยู่ใต้สแตนด์ทางฝั่งใต้เป็นเวลาสองสัปดาห์ นั่นเป็นเรื่องที่ท้าทายเช่นกัน แต่เราได้ทำงานร่วมกับพันธมิตรของเราในด้านการให้แสงสว่าง การให้น้ำ, วิธีที่เราตัดหญ้าในสนาม ซึ่ง เวย์น บิลลิ่ง และทีมงานได้ทำงานอย่างมหัศจรรย์มากในการรักษาความสมดุลเอาไว้ เราดูแลมันทุกชั่วโมง ตั้งแต่ตี 5 ถึง 20.00 น. ทำการตรวจสอบเป็นประจำ โดยเฉพาะอุณหภูมิของดิน”
วิวัฒนาการการทำสนามของอังกฤษ น่าสนใจมาก เพราะสภาพอากาศเลวร้ายมาก ฝนตกแทบจะ 70 เปอร์เซ็นต์ โดยก่อนหน้านี้ทีมดูแลสนามของ แมนยูฯ นำโดย โทนี่ซินแคลร์ ต้องทำงานแข่งกับเวลามาโดยตลอดในการดูแลรักษาสภาพผืนหญ้าที่โอลด์ แทรฟฟอร์ด ได้แสดงให้เห็นถึง “คุณภาพ” ของพื้นผิวสนาม ที่มีคุณภาพที่สุดยอดเช่นเดียวกับสนามเอมิเรตส์สเตเดี้ยม ของอาร์เซน่อล
ทำให้ท้ายที่สุดทั้ง 2 สนาม ได้รับรางวัลเหนือทีมอื่นๆ อย่างต่อเนื่องในยุค 10 ปีหลังมานี้ จากการโหวตโดยสถาบันสปอร์ตส เทิร์ฟ รีเสิร์ช
ผืนหญ้าที่ดูสวยเรียบเรียน หลายคนคงเคยได้ยินถึง “หญ้าพาสพาลั่ม” ซึ่งเป็นหญ้าเกรด AAA+ จากออสเตรเลีย ที่นำมาในถิ่นผี ก่อนที่ โอลด์ แทรฟฟอร์ดใช้วิวัฒนาการสมัยใหม่ของพื้นสนามที่เรียกว่า“เดสโซ่”
“เดสโซ่” ซึ่งเป็นพื้นผิวสนามที่ประกอบขึ้นจากพื้นหญ้าธรรมชาติผสมกับเส้นใยสังเคราะห์ เหมือนกับที่สนามนิว เวมบลีย์ ชามอ่างยักษ์ในลอนดอน รวมไปถึงสนามเอติฮัด สเตเดี้ยม ของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ นำไปใช้เป็นเจ้าแรกๆ
“Desso GrassMaster” เป็นการปลูกหญ้ามาตรฐานสมัยใหม่ นิยมใช้กันอย่างมาก ซึ่ง เดสโซ่ เป็นส่วนผสมระหว่างเส้นใยสังเคราะห์กับหญ้าธรรมชาติ เส้นใยสังเคราะห์กว่า 20 ล้านเส้น จะถูกฝังดินลึก 20 เซนติเมตร เฉลี่ยแล้วจะกินพื้นที่ไม่เกิน 3% ของผิวสนามทั้งหมด จากนั้นก็ปลูกหญ้าจริงลงไป
มาตรฐานนี้ จะทำให้ “รากของหญ้า” ไปพันกับ “เส้นใยสังเคราะห์” จะทำให้ได้พื้นผิวที่เหนียวแน่นและทนกว่าหญ้าปกติถึง 3 เท่า เพราะไม่มีใครใช้หญ้าเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ ต้องใช้หญ้าแท้กับหญ้าเทียมผสมกัน
ที่สำคัญคือ การจัดการระบบ “ใต้สนาม”ก็สำคัญยิ่ง หนึ่งในนั้นคือ ลิเวอร์พูลที่กว่าจะแก้ไขได้ต้องใช้เวลา กระทั่งมาสำเร็จในเดือนมิถุนายน 2015 มีการวางแผนจาก บริษัท คาริลล่อน ผู้รับเหมาทำเมน สแตนด์ จะนำเครนเข้ามาทำงาน
อันที่จริง ก็สามารถจะวางระบบระบายน้ำใหม่ได้ก่อนที่จะนำเครนเข้ามาในสนาม แต่ด้วยข้อจำกัดน้ำหนักของเครน อาจส่งผลกระทบโดยตรงทำให้ ระบบระบายน้ำ
สูญเสียได้
ช่วงเวลานั้นสิ่งที่แฟนบอลเห็นบ่อยๆ ก็คือ สภาพสนามที่มีรอยปะมากมายไม่เรียบเหมือนกับที่อื่นๆ เนื่องมาจาก โครงสร้างที่ออกแบบไว้ “โดยปกติ” จะมีอายุการใช้งานนาน 10 ปี
เมื่อก่อนบอลอังกฤษ ใช้ระบบระบบสปริงเกอร์กับสายยาง ซึ่งเป็นแบบเก่า นอกจากนี้ ก็ยังขาดแคลนระบบอุ่นพื้นสนามและไฟสังเคราะห์เพื่อให้กระตุ้นการเติบโตของหญ้า ก่อนที่ ลิเวอร์พูล จะวางระบบใหม่ทั้งหมดจนมาใช้เต็มรูปแบบเมื่อซีซั่น 2017-18 เป็นต้นมา
ดังนั้น การเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์จึงสำคัญมากๆ ซึ่งในอังกฤษต้องยอมรับว่า มีสนามโอลด์ แทรฟฟอร์ด เป็นแม่แบบ
ทุกวันก่อนมีเกมการแข่งขันที่โอลด์ แทรฟฟอร์ด เจ้าหน้าที่จะตื่นตั้งแต่ตี 2 เพื่อดูกล้องวงจรปิดสภาพสนามจากที่บ้าน หากมีหิมะตกหรือสภาพอากาศไม่เป็นใจ เขาจะสามารถตัดสินใจเปิดเครื่องทำความร้อนละลายหิมะ หรือสั่งการให้ช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ทันก่อนการแข่งขันจะเริ่มขึ้น
โดยเฉพาะ “เดสโซ่” อยู่ที่ทนต่อฝนฟ้าอากาศ และเสียหายยากกว่าเดิม แต่ก็จะต้องทำงานด้วย เทคโนโลยีแสงประดิษฐ์ นวัตกรรมจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่เราจะเห็นเป็นแท่นเครื่องส่องไฟ เพื่อเลียนแบบแสงแดดให้ใกล้เคียงที่สุด มันจะช่วยรักษาสถานะของสนามหญ้าในช่วงหลายเดือน เพราะหญ้ากลายเป็นหญ้าแห้งโดยปกติตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมถึงต้นเดือนเมษายน
จริงจังขนาดนี้ หาใช่เรื่องตลกไม่แต่นี่คือเรื่องที่สนุก และท้าทายเป็นอย่างยิ่ง
ย้อนกลับมาที่บ้านเรา ราชมังคลากีฬาสถานหัวหมาก ใช้เวลาก่อสร้างนานเกือบสิบปี ก่อนจะเปิดใช้ในเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 เมื่อปี 1998 หรือเมื่อ 25 ปีที่ผ่านมา
การบูรณะอาจจะเกิดขึ้นตามข่าวคืองบประมาณ 100 ล้าน หลังจากเพิ่งทำมาเมื่อ3 ปี ก่อนรับศึกยู-23 เอเชีย แต่ต้องไม่ลืมว่าเทคโนโลยีของสนามในเวลานั้นกับเวลานี้มันแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว ดังนั้น ควรพิจารณาให้ถี่ถ้วนว่าเราจะซ่อมใหญ่ หรือเราจะสร้างใหม่ เพราะระบายน้ำลงมาด้านล่างคือที่จอดรถ และถนนรอบๆ สนามให้มารับน้ำแทน จากนั้นรอให้ไหลลงท่อรอการระบาย
อันไหนดีกว่ากัน อันไหนคุ้มกว่า เพราะอันนี้คือหนึ่งในหน้าตาสำคัญของประเทศ ซึ่งการจัดกีฬาสำคัญๆ คือหน้าตาของประเทศ
โลกปัจจุบันคนเราชอบเห็น และชอบดูการสร้างกระแส แต่สำหรับเรื่องนี้คือเรื่องจริงที่เราควรต้องทำให้ดีที่สุด
เพราะนี่คือ “ความเชื่อมั่น” ล้วนๆ
บี แหลมสิงห์
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี