แอลจีเรีย แถลงการณ์ว่า จะเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลให้กับทีมชาติปาเลสไตน์ ในการเป็นสนามเหย้าฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก โซนเอเชีย ที่จะเตะในเดือนหน้า
ตามคำขอจากสมาคมฟุตบอลปาเลสไตน์ แคมเปญฟุตบอลโลกปี 2026 รอบคัดเลือก โซนเอเชีย รอบที่ 2 ซึ่ง ปาเลสไตน์ อยู่ในกลุ่ม ไอ ร่วมกับ ออสเตรเลีย, เลบานอน และเนปาล
ปาเลสไตน์ มีกำหนดเริ่มรอบคัดเลือกนัดแรกของพวกเขา ซึ่งจะไปเยือน เลบานอน ในวันที่ 16 พฤศจิกายน จะเล่นที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยการแข่งขันในฐานะ “ทีมเหย้า” กับออสเตรเลีย ในอีก 5 วันต่อมาดูเหมือนว่าจะเล่นในแอฟริกาเหนือ
หลังจากการโจมตีอิสราเอลโดยกลุ่มติดอาวุธฮามาส ในวัน“ซิมหัต โทราห์” วันสำคัญทางศาสนา นับเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของชาวยิวเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,400 ศพ ฉนวนกาซาตกเป็นเป้าของการโจมตีและตอบโต้กันทางอากาศ ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 3,000 ศพ โดยที่ชาวอิสราเอลเตรียมเปิดฉากโจมตี การรุกภาคพื้นดินใกล้เข้ามาทุกขณะ
“ประธานสหพันธ์ฟุตบอลแอลจีเรีย นายวาลิด ซาดี ประกาศว่าประเทศของเราจะเป็นเจ้าภาพการแข่งขันปาเลสไตน์-ออสเตรเลียอย่างเป็นทางการ ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน” สหพันธ์แอลจีเรีย แถลงการณ์
“การแข่งขันอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการทั้งหมดซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมการของทีมฟุตบอลปาเลสไตน์สำหรับฟุตบอลโลกปี 2026 และรอบคัดเลือกเอเชี่ยนคัพปี 2027” ถือเป็น “ตามหน่วยงานชั้นนำของแอลจีเรีย โดย สหพันธ์แอลจีเรีย จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด เช่น ค่าเดินทางและที่พัก ที่เกี่ยวข้องกับการอยู่ของชาวปาเลสไตน์”
สำหรับ สมาคมฟุตบอลปาเลสไตน์ ซึ่งมีสนามกีฬาแห่งชาติตั้งอยู่ในเวสต์แบงก์ จึงได้ขอความช่วยเหลือจากภายนอก ในขณะที่ความขัดแย้งในภูมิภาคทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยระบุว่าสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชียได้ขอให้จัดการแข่งขันกับ ออสเตรเลีย ในสถานที่ที่เป็นกลาง
มีคำถามมากมายว่า ทำไม แอลจีเรีย ถึงช่วยเหลือในครั้งนี้อย่างยินดีและเต็มใจมากๆ
ย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีก่อน ชัยของของ แอลจีเรีย ในศึกฟุตบอลอาหรับคัพ 2021 ที่ประเทศกาตาร์ ปรากฏว่า มีการเฉลิมฉลองที่ชายหาด มาเฮอร์ อัล-บาก้า ในกาซา ประเทศปาเลสไตน์ กันอย่างเอิกเกริก
ผู้เฉลิมฉลองระบุว่า แม้ว่าทีมชาติปาเลสไตน์จะตกรอบแบ่งกลุ่ม แต่เรามองว่าทีมแอลจีเรียเป็นของเราเอง และชัยชนะของพวกเขาก็เป็นของเรา พวกเขาสนับสนุนและรักเรามากกว่าประเทศหรือทีมอาหรับอื่นๆ
ตลอดทัวร์นาเมนท์ 18 วันที่กาตาร์เป็นเจ้าภาพ การสนับสนุนปาเลสไตน์ได้รับการแสดงออกมาอย่างชัดเจน ในระหว่างพิธีเปิด เสียงเชียร์ที่ดังที่สุดจากแฟนๆ ที่เข้าร่วมงานเกิดขึ้นระหว่างเพลงชาติปาเลสไตน์ ถูกเปิด
สิ่งที่สวยงามเกี่ยวกับอาหรับคัพรอบชิงชนะเลิศ ระหว่าง ตูนิเซีย กับ แอลจีเรีย นั่นก็คือ พวกเขาชูธงชาติปาเลสไตน์
นอกจากนี้ ธงปาเลสไตน์ ยังปรากฏอยู่ในสนามกีฬาจากแฟนฟุตบอลในสนาม จนอาจจะทำให้เราเข้าใจผิดคิดว่าพวกเขาเป็นแฟนบอลของปาเลสไตน์ หรือ ปาเลสไตน์ ลงสนามหรือเปล่า
มีการให้สัมภาษณ์ หลังจบเกมที่ แอลจีเรีย เขี่ย โมร็อกโก ตกรอบก่อนรองชนะเลิศ กองหลัง ฮูซีน เบนายาดา ชี้ไปที่ธงแอลจีเรียและปาเลสไตน์ที่เขาพาดไว้บนตัว พร้อมกับกล่าวว่า “เราไม่ได้เล่นเพื่อโบนัสใดๆ เราเล่นเพื่อสิ่งเหล่านี้ เพื่อธงชาติสองชาตินี้”
โค้ชชาวแอลจีเรีย “มาจิด บูเฮอร์รา” ได้อุทิศชัยชนะ ของประเทศของเขาให้กับปาเลสไตน์ และให้กับโดยเฉพาะ“ฉนวนกาซา”
แต่การสนับสนุนปาเลสไตน์แบบชัดเจน บ่อยครั้ง(บางคนเรียกโจ๋งครึ่ม) เมื่อเทียบกับประเทศอาหรับอื่นๆ แล้ว มันยังไงกันแน่?!?!?
ตามคำบอกเล่าของ ทากรีด อัล-อามูร์ นักข่าวกีฬาและสมาชิกคณะกรรมการบริหารของสโมสรฟุตบอลปาเลสไตน์ อัล-ฮิลาลระบุว่า ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของชาวแอลจีเรียต่อปาเลสไตน์นั้นแพร่หลายในหมู่รัฐบาลและสาธารณชน ตรงไปตรงมา
ตรงกันข้ามกับรัฐบาลอาหรับส่วนใหญ่ที่มี
หลายชาติแยกตัวออกจากการสนับสนุนจากประชาชนในประเด็นของชาวปาเลสไตน์ และมีความสัมพันธ์ที่เป็นมาตรฐานกับอิสราเอล หรือมีการติดต่อทางเบื้องหลังหรือไม่ นั่นคือคำถาม
เพื่อเป็นการตอบแทนในน้ำใจ มีการติดธงแอลจีเรียปรากฏให้เห็นในที่ต่างๆ ทั่วจัตุรัส, ศูนย์กลาง และร้านค้าของเมืองต่างๆ เช่น รามัลลาห์, กาซา และเยรูซาเลม พร้อมกับมีการชูธงขึ้นระหว่างการประท้วงในเขตเวสต์แบงก์ที่ถูกยึดครองเพื่อต่อต้าน อิสราเอล
การสนับสนุนฟุตบอลของชาวแอลจีเรียสำหรับปาเลสไตน์ ได้ดึงดูดความสนใจมาโดยตลอดถึงความจำเป็นในการสนับสนุนของชาวอาหรับอย่างต่อเนื่อง เพื่อสิทธิในการตัดสินใจของตนเอง และการยุติการยึดครองของอิสราเอล
ผู้สื่อข่าว อัล-จาซีรา รายหนึ่งระบุว่า การทำปฏิกิริยานี้ เพื่อเป็นการส่งข้อความสัญลักษณ์แห่งความสามัคคีของชาวอาหรับ และการปฏิเสธลัทธิล่าอาณานิคม พร้อมกับการฟื้นฟูทุกอย่างให้เป็นปกติ
กล่าวคือ กุศโลบายที่ว่า “ความสามัคคีเหนือลัทธิการล่าอาณานิคม”
นี่คือเหตุผลสำคัญว่า ทำไม แอลจีเรีย ถึงได้ “เข้าถึง” เบื้องลึกของปาเลสไตน์
แอลจีเรีย ตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสเป็นเวลา 132 ปี ได้รับฉายาในหมู่ชาวอาหรับว่าเป็น “ประเทศที่มีผู้พลีชีพ”
มาเฮอร์์ มีซาฮี นักข่าวกีฬาชาวแอลจีเรีย กล่าวว่า ความสามัคคีและความรักที่มีอยู่ระหว่างชาวแอลจีเรีย กับ ชาวปาเลสไตน์ เกี่ยวข้องกับความจริงที่ว่าชาวแอลจีเรียเข้าใจถึงความหายนะของลัทธิล่าอาณานิคมของผู้ตั้งถิ่นฐาน
แอลจีเรีย กับ ปาเลสไตน์ เข้าตำราคือ หัวอกเดียวกัน
มีความรู้สึกไม่พอใจระบบอาณานิคม
อดีตประธานาธิบดี “ฮูอารี บูเมเดียน” แห่งแอลจีเรียที่โด่งดังในช่วงต้นทศวรรษ 1970 เคยกล่าววลีที่ว่า “เราจะอยู่กับชาวปาเลสไตน์ ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นผู้ถูกกดขี่หรือผู้กดขี่ก็ตาม”
สงครามอิสรภาพของแอลจีเรียในปี 1954-1962 (พ.ศ. 2497-2505) มีอิทธิพลอย่างมากต่อนโยบายต่างประเทศของประเทศและการสนับสนุนเพื่อการปลดปล่อยผู้คนอาณานิคมทั่วโลก ปาเลสไตน์ก็ไม่มีข้อยกเว้น โดยองค์กรปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PLO : Palestine Liberation Organization)) ที่มี นายยาสเซอร์ อาราฟัต เป็นผู้นำขบวนการ ได้จัดตั้งสำนักงานในกรุงแอลเจียร์ ไม่นานหลังจากได้รับเอกราชในปี 1988 PLO ประชุมกันที่แอลเจียร์ เพื่อประกาศสถาปนารัฐปาเลสไตน์
การที่ประเด็นปัญหาของชาวปาเลสไตน์มีความสำคัญต่อชาวแอลจีเรียนั้นปรากฏชัดเจนในสนามกีฬา ซึ่งเป็นการอธิบายว่า เป็นการสะท้อนที่ถูกต้องถึงสิ่งที่รู้สึกในสังคม เนื่องจากแฟนบอลมีเสรีภาพในการแสดงออกมากขึ้นในพื้นที่นั้น
สนามกีฬาเป็นเหมือนกระบอกเสียงที่ทำให้ชนชั้นแรงงานในแอลจีเรีย ได้มีโอกาสพูดออกมาผ่านพื้นที่ตรงนี้
ซึ่งการเคลื่อนไหวประท้วงของชาวแอลจีเรีย ในปี 2019 ระดับหนึ่งเริ่มต้นในสนามกีฬา ถือเป็นหนึ่งในการอ้างถึงการประท้วงที่ภายในไม่กี่เดือนบีบให้ประธานาธิบดีแอลจีเรีย “อับเดลาซิซบูเตฟลิกา” ต้องอำลาตำแหน่ง
“คนหนุ่มสาว ปฏิเสธที่จะมีส่วนร่วมคบค้าสมาคมกับทางการเมือง เพราะพวกเขามองว่าคนเหล่านี้ซับซ้อน ดังนั้นพวกเขาจึงใช้สนามกีฬาเป็นเวทีเพื่อแสดงความรู้สึกและจุดยืนของพวกเขา”
“สนามฟุตบอลได้กลายเป็นหนึ่งในสถานที่ที่โดดเด่นที่สุดในการสนับสนุน, การแสดงออก หรือสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองและสังคมหลายประการ ผ่านการร้องเพลง, ป้ายโปสเตอร์ หรือเพลง ซึ่งสนามกีฬายังเป็นสถานการณ์ที่ในการวัดการรับรู้ของมวลชนอีกด้วย” อัล-จาซีรา ระบุ
ขณะเดียวกัน คำว่า “ฟาลาสทีน ชูฮาดา (Falasteen Chouhada)”ซึ่งหมายถึง “ปาเลสไตน์ ดินแดนแห่งผู้พลีชีพ” กลายเป็นหนึ่งในการนำเสนอผ่านทางแฟนบอลแอลจีเรีย
ประโยคดังกล่าวจะร้องบนอัฒจันทร์ตลอดการแข่งขันที่ทีมชาติแอลจีเรีย อยู่่ในสนาม
ตามคำกล่าวของ ยูเซฟ ฟาเตซ ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยโอรัน เกี่ยวกับ “Falasteen Chouhada” นั้นมาจากมาจากบทสวด Bab El Oued El Chouhada ซึ่งหมายถึงชาวแอลจีเรียมากกว่า 500 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชายหนุ่มและเป็นแฟนฟุตบอล ได้ถูกสังหารโดยรัฐบาลในการจลาจลเมื่อปี 1988 หลังจาก
การประท้วงต่อต้านสภาพความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ของพวกเขาในย่านบ๊าบ เอล โออัด ในเมืองหลวงแอลเจียร์
“การร้องเพลงนั้นถือเป็นแก่นของเรา ทำให้ทีมชาติแอลจีเรีย ได้ใช้เรื่องนี้ในการสนับสนุนประเด็นชาวปาเลสไตน์”
การเปล่งเสียง “Falasteen Chouhada” ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เกิดขึ้นเมื่อปี 2016 ซึ่ง แอลจีเรีย กับ ปาเลสไตน์ ลงสนามเตะบอลนัดกระชับมิตร ซึ่งมีแฟนบอลมากกว่า 70,000 คนเข้าร่วมการแข่งขัน
เสียงเชียร์ในสนามกีฬาปะทุขึ้นด้วยความอิ่มเอมใจ หลังจากที่ฝ่ายปาเลสไตน์ทำประตูได้ และสำหรับหลาย ๆ คน สิ่งนี้ไม่อาจสรุปความรักของชาวแอลจีเรียที่มีต่อปาเลสไตน์ได้ดีไปกว่านี้อีกแล้ว
มาเฮอร์์ อัล-บาก้า เจ้าของร้านกาแฟจากฉนวนกาซากล่าวว่าความรู้สึกนี้เป็นความรู้สึกร่วมกันผ่าน อัล-จาซีรา
“ทุกครั้งที่ทีมเล่น ร้านกาแฟของเราจะเต็มไปด้วยผู้สนับสนุน แม้ว่าเราจะอยู่ห่างกัน แต่แอลจีเรียก็อยู่ใกล้หัวใจเราที่สุด”
เดือนมิถุนายนปีที่แล้ว รัฐบาลแอลจีเรีย เคยรับหน้าเสื่อครั้งสำคัญสุดๆ ด้วยการเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมเจรจาไกล่เกลี่ย ระหว่างกลุ่มต่างๆ ของปาเลสไตน์ ที่กรุงแอลเจียร์ โดยที่ประชุมได้ตกลงในการปรองดอง ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อแก้ไขความขัดแย้งก้ำกึ่งกันไปมานานนับสิบๆ ปี
มีผู้นำปาเลสไตน์ ทั้งสิ้น 14 ฝ่าย เข้าร่วม!!!!
ไม่มีชาติใดทำได้ แต่ แอลจีเรีย ทำได้
ในโลกของกีฬา เคยมีเหตุการณ์สำคัญชัดเจนก็คือ เฟธี นูรีน นักกีฬายูโดทีมชาติแอลจีเรีย ตัดสินใจถอนตัวจากการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น อย่างกะทันหัน หลังจากเธอทราบว่า ถ้าเธอผ่านรอบแรก จะเข้ารอบสองไปเจอกับ โตฮาร์ บุตบุล จากอิสราเอล
แอลจีเรีย เป็นหนึ่งในชาติกลุ่มสมาชิกสันนิบาตอาหรับ (League of Arab States) ซึ่งก่อตั้งปี 1945 ก่อนที่ ยิว จะประกาศเอกราชของรัฐของตนเองขึ้น ตามพื้นที่ที่สหประชาชาติแบ่งให้ในอีก 3 ปีต่อมา (วันที่ 14 พฤษภาคม 1948) โดยใช้ชื่อประเทศว่า อิสราเอล แน่นอนว่า ชาวปาเลสไตน์ ไม่พอใจ เพราะอยู่ในแผ่นดินนี้มายาวนานนับร้อยปี
แล้วก็มาถูก สหประชาชาติ (ยูเอ็น : United Nations) แบ่งพื้นที่ประเทศให้กับชาวยิวที่มาทีหลัง แม้ประวัติศาสตร์นั้นเคยใช้ชีวิตที่นี่มาก่อน แต่ก็ถือว่าได้อพยพลาจรไปยาวไกล
แต่ผลจากสงครามโลก ครั้งที่ 1 กับ “คำประกาศบัลโฟร์” (Balfour Declaration) และผลจากสงครามโลก ครั้งที่ 2 กับ การหนีตายจากการตามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ทำให้พวกเขากลับมาพื้นที่ตรงนี้อีกครั้ง
ทำให้กลุ่มสมาชิกสันนิบาตอาหรับ รวมถึงประเทศในโลกมุสลิมอื่นๆ ไม่ยอมรับและทำการ “คว่ำบาตร” อิสราเอลมาจนถึงปัจจุบัน
แอลจีเรีย ชัดเจนมาก และเป็น 1 ใน 13 ประเทศที่ปฏิเสธผู้ถือพาสปอร์ตอิสราเอล เข้าประเทศ แม้ อิสราเอล จะถูกจัดว่าเป็นท็อป 20 ของโลกใบนี้ที่ทรงอิทธิพลในการขอวีซ่าหรือสัญชาติก็ตาม
นับไปนับมาเวลาก็ล่วงเลยมาถึง 7 ทศวรรษ ณ ดินแดนนี้ก็ยังคงไม่พ้นจากกลิ่นอายของระเบิด, การนองเลือด และเสียงร้องไห้จากการสูญเสีย
หลายอย่างถูกผลกระทบจากการเมือง และไม่มีอะไรได้รับการยกเว้น
กีฬายอดฮิตอย่าง “ฟุตบอลโลก” ก็เช่นเดียวกัน
สิ่งที่หวังและวิงวอนก็คือว่า ไม่ต้องการให้มีอะไรเกินเลยหรือสูญเสียไปกว่านี้
อยากให้สงครามจะจบโดยเร็ววัน...ต่างชาติต่างศาสนา
แต่ทั้้งหมดก็คนเหมือนกัน
บี แหลมสิงห์
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี