ปัจจุบันทั่วโลกมีจำนวนผู้ที่ป่วยเป็น “โรคภูมิแพ้” เพิ่มมากขึ้นรวมถึงประเทศไทยที่มีผู้ป่วยเป็นโรคนี้มากขึ้นถึง 3-4 เท่าเมื่อเทียบกับ 10 ปีก่อน ซึ่งมีข้อสันนิษฐานหลากหลายถึงสาเหตุของการเกิดโรค อาทิ จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น วิถีการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อม รูปแบบการดำรงชีวิตประจำวัน หรือจากพันธุกรรม เป็นต้น
โรคภูมิแพ้ เป็นโรคที่พบได้ทั่วไปไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะตอบสนองสารก่อภูมิแพ้นั้น ด้วยการหลั่งสารก่อการอักเสบต่างๆ ที่จะไปกระตุ้นให้มีการพัฒนาเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกัน และสามารถผลิตแอนติบอดีต่อสารก่อภูมิแพ้แต่ละชนิด ทำให้มีความไวต่อสารก่อภูมิแพ้ชนิดนั้นเพิ่มมากขึ้น
สารก่อภูมิแพ้ (Allergen) หมายถึง สารที่เข้าสู่ร่างกายแล้วทำให้ร่างกายมีปฏิกิริยาผิดปกติ ซึ่งจะมีอันตรายเฉพาะคนที่แพ้สารนั้นๆ เท่านั้น โดยอาการแพ้มีได้หลายแบบขึ้นอยู่กับชนิดของสารก่อภูมิแพ้และลักษณะจำเพาะของแต่ละบุคคล โดยสารดังกล่าวจะเข้าสู่ร่างกายไม่ว่าจะเป็นการสูดดม รับประทานหรือสัมผัส ทำให้ร่างกายมีปฏิกิริยาผิดปกติ จากการตอบสนองกับสารบางชนิดมากผิดปกติ และส่งผลให้เกิดอาการอักเสบกับอวัยวะที่สัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ โดยสามารถแบ่งชนิดของโรคภูมิแพ้อย่างง่ายๆ ได้ตามระบบที่มีอาการ ดังนี้
- ระบบหายใจ มีอาการตั้งแต่น้ำมูกไหล จาม คันจมูก คัดจมูก (คนทั่วไปเรียกว่าโรคแพ้อากาศ) บางคนอาจมีอาการรุนแรง เช่น ไอ แน่นหน้าอก มีอาการหอบ ซึ่งเป็นอาการของโรคหืด สาเหตุของโรคภูมิแพ้ของระบบทางเดินหายใจส่วนมากเกิดจากสารก่อภูมิแพ้ในอากาศ โดยคนไทยส่วนใหญ่มักเกิดจากการแพ้ไรฝุ่น รองลงมาคือ แมลงสาบ ขนและรังแคสัตว์เลี้ยง เช่น แมว สุนัข เกสรพืช หรือเชื้อราในอากาศ สำหรับในเด็กเล็กๆ บางรายแพ้อาหารอาจแสดงอาการออกมาทางระบบหายใจได้ เช่น หายใจครืดคราด เป็นต้น
- ผิวหนัง มีอาการ เช่น ผื่นลมพิษ ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Eczema) หรือผื่นแพ้จากการสัมผัส สาเหตุใหญ่ของลมพิษมักเกิดจากอาหารและยา ส่วนผื่นภูมิแพ้ผิวหนังมักเกิดขึ้นในเด็กที่มีพันธุกรรมของโรคภูมิแพ้ในครอบครัว หรืออาจเกิดจากการแพ้อาหาร เช่น นมวัว ไข่ ซึ่งทำให้เกิดผื่น โดยมักเกิดบริเวณแก้มในเด็กเล็กหรือข้อพับในเด็กโต
- ระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ อาการปวดท้อง อาเจียน ถ่ายเป็นมูกเลือด สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการแพ้อาหาร ปัจจุบันรายชื่อสารก่อภูมิแพ้หลักในอาหารมีอยู่แล้ว 9 ชนิด ได้แก่ นม ข้าวสาลี ถั่วเหลือง ปลา สัตว์น้ำมีเปลือก ไข่ งา ถั่วเปลือกแข็ง (tree nuts) และถั่วลิสง โดยอาการแพ้อาหารอาจพบได้ตั้งแต่ระดับไม่รุนแรงจนถึงขั้นเป็นอันตรายร้ายแรง ซึ่งขึ้นอยู่กับปฏิกิริยาของร่างกายต่ออาหารที่แพ้ เช่น คันผิวหนัง ปากหรือใบหน้าบวม คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ
- ระบบอื่นๆ (ที่มักมีอาการรุนแรง) ผู้ป่วยบางรายมีอาการแพ้มาก อาจมีอาการเกิดขึ้นในทุกระบบ เช่น หอบ ลมพิษ ช็อก หรืออาจรุนแรงจนเสียชีวิตภายหลังจากการรับประทานอาหารบางชนิด เช่น กุ้ง ถั่วลิสง ฯลฯ หรือภายหลังได้รับยาบางชนิด เช่น ยาเพนนิซิลิน (Penicillin) ยาแอสไพริน (Aspirin) ยาไอบูโพรเฟน(Ibuprofen) ยากันชัก (Anticonvulsant) หรือยาเคมีบำบัด ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ ทั้งบนผิวหนัง ระบบทางเดินหายใจและเกิดภาวะแพ้เฉียบพลัน (anaphylaxis) หรือแม้กระทั่งสารเคมีเช่น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด น้ำยาย้อมผม น้ำหอม สารกันเสียและสารฟอร์มาลดีไฮด์ที่พบในเครื่องสำอาง อาจทำให้เกิดอาการแพ้บนผิวหนัง เช่น ผิวแดง แสบ คัน ลอก หรือไหม้ได้หลังจากสัมผัสสารเคมีภายใน 1-2 วัน หรืออาจเริ่มมีอาการหลังเวลาผ่านไป 1-2 สัปดาห์
จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นเพื่อป้องกันการเกิดโรคภูมิแพ้ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดการแพ้ ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุดและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอหากสงสัยว่าเป็นโรคภูมิแพ้หรือไม่นั้น ควรปรึกษาและพบแพทย์ รวมทั้งทดสอบ Skin Test เพื่อหาสาเหตุของการแพ้ต่อไป
เรียบเรียงข้อมูลจาก :
https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail
https://www.paolohospital.com/th
https://www.pobpad.com
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี