เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 ศึกฟุตบอลขวัญใจมหาชนทั่วโลกอย่าง “พรีเมียร์ลีก” ของอังกฤษ เตรียมออกกฎใหม่ให้กรรมการอธิบายผลการตรวจสอบภาพจากกล้องวีดีโอ หรือ VAR (Video Assistant Referee) อันเป็นเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้ชี้ขาดจังหวะสำคัญที่อาจมีผลต่อเกมการแข่งขัน เช่น การได้ประตู การได้จุดโทษ การทำฟาวล์ การล้ำหน้า ให้กับแฟนบอลที่กำลังชมการแข่งขันได้ทราบด้วยเพื่อความโปร่งใส
สื่อเมืองผู้ดีอย่าง นสพ.Daily Mirror เสนอข่าว VAR law change set to impact all Premier League clubs from start of next season ระบุว่า หลังจากมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับความเหมาะสมในการนำระบบ VAR มาใช้เพื่อช่วยผู้ตัดสินระหว่างการแข่งขันฟุตบอลตลอดหลายปีที่ผ่านมา ล่าสุดคณะกรรมการสมาคมฟุตบอลระหว่างประเทศ (IFAB) ได้มีมติให้ ผู้ตัดสินอธิบายว่ามีการตัดสินใจอย่างไร โดยอ้างถึงโครงการนำร่องในการแข่งขันระดับสโมสรใน 2 ประเทศ คือเม็กซิโกและโปรตุเกส ว่าการทดลองประสบความสำเร็จด้วยดี และแนวปฏิบัตินี้จะเริ่มใช้ในพรีเมียร์ลีกฤดูกาลหน้า
ยังมีการอ้างถึงกีฬาฟุตบอลในยุคปัจจุบันที่ใช้แนวทางคล้ายกับกีฬารักบี้มากขึ้น นั่นคือกรรมการจะมีไมโครโฟนติดตัวเพื่ออธิบายให้ผู้ชมเข้าใจว่าการตัดสินนั้นเกิดขึ้นอย่างไร และยังกล่าวถึง ฮาร์เวิร์ด เว็บบ์ (Howard Webb) นายกสมาคมผู้ตัดสินในลีกฟุตบอลอาชีพของอังกฤษ (PGMOL) ในฐานะผู้สนับสนุนหลักเพื่อความโปร่งใสมากขึ้นในอนาคต โดยมีกฎใหม่เข้ามาช่วย
อย่างไรก็ตาม กฎใหม่จะมีผลบังคับใช้หรือไม่นั้น ต้องรอการอนุมัติจากสโมสรชั้นนำ และการตัดสินใจขั้นสุดท้ายจะต้องดำเนินการที่การประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของพรีเมียร์ลีกในเดือน มิ.ย. 2567 โดย แอนโธนี เทย์เลอร์ (Anthony Taylor) เจ้าหน้าที่ของพรีเมียร์ลีก เป็นหนึ่งในคนกลุ่มแรกๆ ที่ใช้ระบบใหม่เมื่อ 12 เดือนก่อนในการแข่งขันชิงแชมป์สโมสรโลกในโมร็อกโก ก่อนที่การทดลองจะขยายไปยังฟุตบอลโลกชายรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี และฟุตบอลโลกหญิงในปลายปีเดียวกัน
เทคโนโลยี VAR ได้ทำข้อผิดพลาดที่สำคัญหลายประการในระยะนี้ แม้ว่าเจ้าหน้าที่จะมีประสบการณ์ในการใช้งานมากขึ้นเรื่อยๆ หนึ่งในกรณีตัวอย่างคือเกมระหว่าง “หงส์แดง” ลิเวอร์พูล กับ “ไก่เดือยทอง” ทอตแนมฮอตสเปอร์ ในช่วงต้นของฤดูกาลปัจจุบัน ซึ่งมีจังหวะที่ฝ่ายแรกที่ควรจะได้ประตูแต่กลับถูกตัดสินว่าล้ำหน้า และแม้หลักฐานภาพจาก VAR จะเห็นว่าไม่ใช่จังหวะล้ำหน้า แต่กรรมการก็เลือกที่จะไม่กลับคำตัดสิน มีแต่เพียงกล่าวยอมรับความผิดพลาดที่เกิดจากการสื่อสารเท่านั้น และหัวหน้าทีมกรรมการอย่าง เว็บบ์ ก็ยังต้องการให้ใช้ VAR ต่อไป
“ผมเข้าใจว่าความล่าช้าอาจทำให้เกิดความหงุดหงิด แต่บางครั้งพวกเขาก็หลีกเลี่ยงไม่ได้เมื่อคุณทำงานอย่างขยันขันแข็ง มันปกป้องเกมจากข้อผิดพลาดที่ชัดเจน และความคิดที่จะเข้าสู่เกมใหญ่บางเกมโดยไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกนั้น ผมไม่คิดว่าผู้ตัดสินหลายคนคงต้องการสิ่งนั้น มีข้อผิดพลาดอยู่มากมาย เราต้องยอมรับสิ่งนั้น ผมมักจะยกมือขึ้นเสมอหากทำผิด เมื่อเวลาผ่านไป คุณพยายามลดข้อผิดพลาดเหล่านั้น แต่ความจริงก็ค่อนข้างเป็นบวก” เว็บบ์ กล่าว
นสพ.The Independent สื่ออีกฉบับของอังกฤษ เสนอรายงานพิเศษ What is VAR, how does it work and what are the biggest problems? ว่าด้วยหลายกรณีที่ทำให้เทคโนโลยี VAR ถูกตั้งคำถามว่ายังสมควรให้ใช้ในการแข่งขันฟุตบอลต่อไปหรือไม่ ทั้งในเกมระหว่างทีมฟุตบอลของอังกฤษด้วยกันเอง และเกมที่สโมสรจากอังกฤษแข่งขันกับสโมสรจากประเทศอื่นๆ ในทวีปยุโรป อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากพรีเมียร์ลีก ระบุว่า หลังการนำเทคโนโลยี VAR มาใช้ อัตราการตัดสินที่ถูกต้องเพิ่มขึ้น โดยฤดูกาลที่เริ่มใช้คือ 2562/63 อยู่ที่ร้อยละ 92 เพิ่มขึ้นจากก่อนหน้านั้นที่ร้อยละ 84
เว็บไซต์ทางการของพรีเมียร์ลีก อธิบายการใช้ VAR ไว้ว่า 1.VAR จะถูกใช้สำหรับข้อผิดพลาดที่ชัดเจนหรือเหตุการณ์ผิดพลาดร้ายแรงใน 4 สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงการแข่งขัน ประกอบด้วย การได้ประตู การตัดสินลงโทษ เหตุการณ์ใบแดงโดยตรง และตัวตนที่ผิดพลาด 2.เมื่อสถานการณ์การแข่งขันเกิดขึ้นหรืออาจเกิดขึ้น VAR จะคอยดูและติดตามภาพการแข่งขันอย่างต่อเนื่องจากศูนย์กลางที่ Stockley Park
3.หากมีการตัดสินใจ ผู้ตัดสินที่ประจำอยู่ ณ VAR หรือผู้ช่วยผู้ตัดสิน VAR (AVAR) จะส่งต่อไปยังผู้ตัดสินในสนามว่าควรหยุดการเล่นในขณะที่ทำการตรวจสอบ ก่อนที่จะแนะนำไม่ว่าการกลับคำตัดสิน หรือการตรวจสอบข้างสนามของจอภาพสำหรับผู้อ้างอิงหรือการเล่นต่อ หรือการเล่นด้วยการตัดสินใจเดิมในสนาม 4.เจ้าหน้าที่วิดีโอมีเวลาจนกว่าลูกบอลจะตาย เพื่อแจ้งให้ผู้ตัดสินทราบว่าอยู่ระหว่างการตรวจสอบหากการเล่นยังดำเนินอยู่ และ 5.ผู้ตัดสินในสนามสามารถตรวจสอบจอภาพหรือยอมรับคำแนะนำ VAR เมื่อตรวจสอบมอนิเตอร์ข้างสนาม พวกเขาอาจยึดติดกับการประเมินเบื้องต้นของตนเองหรือยกเลิกสิ่งเดิม ก่อนที่จะสื่อสารการตัดสินใจครั้งใหม่กับผู้คน
ด้าน นสพ.Daily Mail เสนอข่าว Premier League referees WILL be allowed to explain VAR decisions to fans from the start of next season after green light from football's lawmakers ระบุว่า ฮาร์เวิร์ด เว็บบ์ ผู้นำของ PGMOL สนับสนุนให้ผู้ตัดสินสามารถสื่อสารการตัดสินใจของพวกเขากับผู้ชมในสนามได้ ซึ่งเป็นจุดยืนเรื่องความโปร่งใสที่พยายามผลักดันมาตั้งแต่การเข้าร่วมกับ PGMOL ในปี 2565
เส้นทางของแนวคิดให้กรรมการอธิบายการตัดสินของตนกับแฟนบอล เริ่มต้นใช้กับการแข่งขันชิงแชมป์สโมสรโลกในโมร็อกโก เมื่อ 12 เดือนก่อน จากนั้นได้ขยายไปยังฟุตบอลโลกชายอายุต่ำกว่า 20 ปี และฟุตบอลโลกหญิงในปีเดียวกัน ตามด้วยการทดลองใช้ในเกมระดับสโมสร ประกอบด้วย ลิกา เอเมเอกิส (Liga MX) ลีกสูงสุดของเม็กซิโก และ โปรตุเกส ลีกคัพ (Portuguese League Cup) รายการบอลถ้วยของสโมสรในโปรตุเกส หลังจากนั้น IFAB จึงอนุมัติให้ใช้แนวทางนี้ในที่สุด
พรีเมียร์ลีกมีแนวโน้มที่จะแนะนำระบบที่คล้ายคลึงกับที่ใช้ในฟุตบอลโลกหญิงเมื่อปี 2565 ในออสเตรเลีย โดยผู้ตัดสินจะประกาศและอธิบายการตัดสินใจของพวกเขาให้ฝูงชนฟังหลังจากดูภาพ VAR ที่หน้าจอมอนิเตอร์ข้างสนาม แม้คำอธิบายจะเป็นเรื่องพื้นๆ เช่น “จากการตรวจสอบ พบผู้เล่นหมายเลข 9 ถูกทำฟาวล์โดยผู้เล่นหมายเลข 12 ทำให้อังกฤษได้จุดโทษ (following a review, 9 was fouled by 12, penalty to England)” แต่ก็ได้ช่วยขจัดความสับสนและความหงุดหงิดบางประการที่แฟนบอลในสนามได้รับตั้งแต่เทคโนโลยี VAR ถูกนำมาใช้
ถึงกระนั้น แนวปฏิบัติใหม่ไม่มีแผนที่จะเผยแพร่บทสนทนาระหว่างผู้ตัดสินและเจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในระหว่างการแข่งขัน แม้จะสามารถนำเสียงสนทนานั้นไปเผยแพร่ได้ภายหลังการแข่งขันจบลงแล้วก็ตาม ในเบื้องต้น IFAB และ PGMOL ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็น
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี