กัญชา (Cannabis) ถูกใช้อย่างแพร่หลายทั้งในแง่ของการแพทย์และสันทนาการ รวมถึงปัจจุบันที่เริ่มมีความสนใจการใช้กัญชาเพื่อการเสริมสมรรถภาพและการฟื้นฟูสภาพร่างกายหลังการบาดเจ็บในนักกีฬา โดยงานวิจัยในปี ค.ศ. 2020 พบว่ามีนักกีฬาถึง 23% ที่ใช้กัญชาหรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชา
สารสกัดจากกัญชาที่ได้รับความนิยมคือ Tetrahydrocannabinol (THC) และ Cannabidiol (CBD) โดยผลิตภัณฑ์จากกัญชาจะมีสัดส่วนของสารสกัดเหล่านี้ที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับผลลัพธ์ที่ต้องการสาร THC นอกจากทำให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลายแล้ว ยังออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทด้วย ส่วนสาร CBD ทำให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลายและช่วยในการนอนหลับ ลดปวด รวมถึงการควบคุมอารมณ์ จึงได้รับความสนใจมากขึ้นจากกลุ่มนักกีฬา
สำหรับสาร THC ยังไม่มีผลการศึกษาที่ชัดเจนเกี่ยวกับผลต่อการออกกำลังกายและผลต่อประสิทธิภาพหรือสมรรถนะของนักกีฬา ในขณะที่สาร CBD ได้รับความสนใจจากการใช้ในนักกีฬา เนื่องจากได้รับการถอดจากรายชื่อสารต้องห้ามขององค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก (World Anti-Doping Agency : WADA) หรือวาด้าในปีค.ศ. 2018 ซึ่งเหตุผลหลักที่มีความนิยมมากขึ้นเนื่องจากสาร CBD ไม่มีผลต่อจิตและประสาท โดยผลของสาร CBD ต่อนักกีฬา มีดังนี้
ผลต่อการนอนหลับและการคลายกังวล
นักกีฬามักมีปัญหาการนอนหรือมีภาวะนอนหลับไม่เพียงพอจากสาเหตุหลายประการเช่น ผลจากอาหารเสริม/เครื่องดื่มก่อนการแข่งขัน เวลาที่ทำการแข่งขัน ผลจากการเดินทางเป็นเวลานาน และความกังวลที่เกี่ยวของกับการแข่งขัน ถึงแม้ว่าจะมีการศึกษาผลของสาร CBD ต่อการนอนหลับและการคลายกังวลในกลุ่มประชากรที่มีสุขภาพแข็งแรงหรือคนไข้โรคพาร์กินสัน แต่ยังไม่มีผลการศึกษาของการใช้สาร CBD เพื่อการนอนหลับหรือคลายกังวลในนักกีฬา
ผลต่อการลดปวดและการอักเสบของกล้ามเนื้อ
ภาวะกล้ามเนื้ออักเสบจากการออกกำลังเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เนื่องจากนักกีฬามีตารางการฝึกหรือแข่งขันที่มากกว่าคนทั่วไป นักกีฬาจึงมักมองหาสิ่งที่ช่วยบรรเทาอาการปวดโดยเฉพาะยาแก้อักเสบ (Non-steroidalanti-inflammatory drug : NSAIDs) หรือยากลุ่มโอปิออยด์ (Opioids) ซึ่งการใช้ยาเหล่านี้เป็นประจำมักมีผลข้างเคียงจากยาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การศึกษาในปี ค.ศ.2020 จาก International Journal of Sport Nutritionand Exercise Metabolism ที่ศึกษาการใช้กัญชาในนักกีฬารักบี้ในสหราชอาณาจักรพบว่า มีนักกีฬารักบี้ถึง 26% ที่เคยใช้หรือกำลังใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสาร CBD แต่มีนักกีฬาเพียง 14% ที่ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ โดยปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัดว่าจำเป็นต้องใช้ขนาดสาร CBD ขนาดเท่าใดเพื่อลดปวดหรือลดการอักเสบของกล้ามเนื้อ
อย่างไรก็ตามถึงแม้กัญชาจะมีประโยชน์ตามที่กล่าวไปข้างต้น แต่การใช้กัญชาก็ต้องระวังผลข้างเคียงเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารสกัดกัญชาแบบสังเคราะห์ซึ่งมักมีผลข้างเคียงที่รุนแรงและคาดเดาผลลัพธ์ได้ยาก
ผลข้างเคียงจากกัญชามีดังนี้
1. เกิดภาวะง่วงซึม ซึ่งสามารถทำให้เปลี่ยนการรับรู้ ทำให้อารมณ์แปรปรวน มีผลต่อการเคลื่อนไหวของร่างกาย ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายต่อนักกีฬาและบุคคลที่เกี่ยวข้อง
2. เกิดผลต่อร่างกายโดยตรง เช่น ปากแห้ง คอแห้ง มีอัตราการเต้นของหัวใจสูงกว่าปกติ ความดันสูง และเวียนศีรษะ
3. ความคิดและความจำที่แย่ลงในผู้ที่ใช้กัญชาเป็นระยะเวลานาน
ในปี ค.ศ.2024 วาด้า (WADA) ยังคงกำหนดให้กัญชาอยู่ในกลุ่ม S8 Cannabinoids ที่ห้ามใช้เฉพาะในการแข่งขัน (In-competition) โดยสารต้องห้ามในหมวดนี้
คือ Tetrahydrocannabinol หรือ THC ซึ่งห้ามทั้งสารจากธรรมชาติและสารสังเคราะห์ เช่น
- กัญชาและผลิตภัณฑ์จากกัญชา
- สารสกัด THC จากธรรมชาติหรือสังเคราะห์
- สาร Cannabinoid สังเคราะห์ที่ออกฤทธิ์เหมือนสาร THC
และมีข้อยกเว้น (Exceptions) คือ Cannabidol หรือ CBD
วาด้า (WADA) ยังได้พบปัญหาในการจำแนกนักกีฬาออกเป็นกลุ่มที่มีการใช้กัญชาในขณะแข่งขัน จากกลุ่มที่ไม่ได้ใช้กัญชาในขณะแข่งขันแต่ยังมีสาร THC หลงเหลืออยู่ในปัสสาวะ โดยเฉพาะผู้ได้ที่รับสาร THC เป็นประจำ เกณฑ์การตรวจสาร THC จากปัสสาวะจะอยู่ที่ 150 นาโนกรัม/มิลลิลิตร สำหรับผลการตรวจพบสารต้องห้าม (Adverse analytic finding : AAF) ในปี ค.ศ.2021 ของวาด้า (WADA) ตรวจพบสาร THC อยู่ที่ 4%
ในกลุ่มนักกีฬาที่มีการใช้กัญชาทางการแพทย์สามารถยื่นข้อยกเว้นการใช้ยาเพื่อการรักษา (Therapeutic use exemptions : TUE) เพื่อรักษาโรคปวดเหตุพยาธิสภาพเส้นประสาท (Neuropathic pain) ตามแนวทางการรักษาของวาด้าเพื่อทำการแข่งขันกีฬา ซึ่งวาด้า (WADA) จะพิจารณาตามเกณฑ์
นักกีฬาควรมีความรู้เกี่ยวกับประโยชน์และโทษของกัญชา ตรวจสอบและระมัดระวังการใช้กัญชารวมถึงสารที่อาจปนเปื้อนสารสกัดจากกัญชาในขณะการแข่งขัน หากใช้กัญชาเพื่อการรักษาทางการแพทย์ควรปรึกษาแพทย์ประจำทีม(Team physician) เพื่อตรวจสอบเกณฑ์การพิจารณาของวาด้า (WADA) และยื่นแบบฟอร์มข้อยกเว้น (TUE) การใช้ยาเพื่อการรักษา
เอกสารอ้างอิง
- www.wada-ama.org/en/athletes-support-personnel/therapeutic-use-exemptions-tues
- www.wada-ama.org/en/prohibited-list?item-id=5038
- www.usada.org/athletes/substances/marijuana-faq
- Burr, J. F., Cheung, C. P., Kasper, A. M., Gillham, S. H., & Close, G. L. (2021). Cannabis and Athletic Performance. Sports medicine (Auckland, N.Z.), 51(Suppl 1), 75–87
โดย นายแพทย์อธิป คงกลํ่า
แพทย์ประจำบ้านออร์โธปิดิกส์
คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล
มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี