“พอล ป็อกบา” เป็นนักฟุตบอลที่มีผลงานโดดเด่นกับสโมสรแมนฯ ยูไนเต็ด มาเป็นเวลา 6 ปี ก่อนที่จะหมดสัญญาและตัดสินใจย้ายกลับไปที่สโมสรเก่ายูเวนตุส ในเดือนกรกฎาคม 2022 (ขณะที่ตนเองอายุได้ 29 ปี) หลังการเซ็นสัญญากับยูเวนตุสได้ 14 วัน ป็อกบา ได้ลงเล่นในเกมปรีซีซั่นกับทีม หลังจบเกมวันนั้นเขามีอาการเจ็บเข่าขวา เมื่อไปตรวจร่างกายอย่างละเอียดพบว่าหมอนรองเข่ามีปัญหา ทางสโมสรฯเสนอให้ผ่าตัดโดยทันที เพื่อให้เขาสามารถกลับมาช่วยทีมได้เร็วที่สุด แต่เขาเลือกที่จะใช้วิธี “เยียวยาตามอาการ” เพื่อประคองตัวเองให้ผ่านฟุตบอลโลกไปได้ เมื่อเวลาผ่านไป 1 เดือน เขาได้รับบาดเจ็บซ้ำที่จุดเดิมจนอาการหนักขึ้น ทำให้เขาไม่มีทางเลือกนอกจากต้องผ่าตัด จากสถานการณ์นี้เองทำให้เขาต้องถอนตัวจากฟุตบอลโลกในเดือนมกราคม 2023 ถึงแม้ว่าเขาจะสามารถฟื้นตัวจนสามารถกลับมาเล่นกับสโมสรได้ เขาก็ต้องประสบกับปัญหาเจ็บโคนขาหนีบ ตามด้วยเจ็บสะโพก และเจ็บแฮมสตริงในเวลาต่อมาทำให้ทั้งฤดูกาล 2022-23 เขาได้ลงสนามเป็นตัวจริงเพียง 1 นัดเท่านั้น เมื่อฤดูกาล 2023-24 เริ่มขึ้น เกมแรกของซีซั่นยูเวนตุสเอาชนะอูดิเนเซ่ได้ (3-0) ป็อกบา มีชื่อเป็นตัวสำรอง แต่เขาไม่ได้ลงเล่น หลังจบเกมการแข่งขัน สำนักงานควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬาของประเทศอิตาลี ได้ทำการสุ่มผู้เล่นทั้งสองทีมเพื่อตรวจปัสสาวะ (ตามกระบวนการปกติ) เขาเป็นหนึ่งในนักเตะที่ถูกเรียกไปตรวจ ซึ่งเขาก็ให้ความร่วมมือด้วยดี และหลังจากนั้นเขาก็ได้กลับมาช่วยทีมเล่นในนัดที่ 2 และ 3 ของฤดูกาลตามลำดับ ซึ่งเหตุการณ์ดูเหมือนจะค่อยๆดีขึ้น จนกระทั่งวันที่ 11 กันยายน 2023 ผลการตรวจสารต้องห้ามฯออกมาว่า พบสารที่มีชื่อว่า DHEA(dehydroepiandrosterone) อยู่ในปัสสาวะของป็อกบา ซึ่งเมื่อเขาทำหนังสือเพื่อขอตรวจยืนยันผลในครั้งที่ 2 ก็พบว่า“ได้ผลตรงกัน” ทั้ง 2 ครั้ง ตามกฎของ WADA ป็อกบามีสิทธิ์ที่จะยื่นเรื่องเพื่อขอต่อสู้ในชั้นศาลได้ ซึ่งถ้าเขาสามารถพิสูจน์ได้ว่าการใช้สารดังกล่าวเกิดจากความไม่ตั้งใจ เขาก็จะได้รับโทษเพียงกึ่งหนึ่ง คือ 2 ปี แต่หากไม่สามารถพิสูจน์ได้ เขาจะต้องได้รับโทษแบนห้ามยุ่งเกี่ยวกับวงการฟุตบอลเป็นเวลา 4 ปีในเรื่องนี้ ทางเอเย่นต์คนปัจจุบันของป็อกบา ชี้แจงว่าสารที่ตรวจพบนั้นมาจาก “อาหารเสริม” ที่แพทย์ในสหรัฐอเมริกาแนะนำให้ใช้ ซึ่งตัวป็อกบาไม่ได้มีเจตนาจะคดโกงแน่นอน เพราะที่ผ่านมาในอาชีพของเขา เขาก็ไม่เคยมีข่าวฉาวเรื่องนี้แม้แต่ครั้งเดียวในขณะที่ตัวป็อกบาเองก็พยายามต่อสู้ในชั้นศาล ให้การว่าเพราะเหตุใดเขาจึงมีสารต้องห้ามในร่างกาย
ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2024 ทางสำนักงานควบคุมการใช้สารต้องห้ามฯ แจ้งผลว่าป็อกบาโดนโทษแบนห้ามยุ่งเกี่ยวกับวงการฟุตบอลเป็นเวลา 4 ปีเต็ม ซึ่งหมายความว่า ทางคณะกรรมการพิจารณาโทษเห็นว่าเขาใช้สารนี้จริงและไม่มีเหตุบรรเทาโทษ (ลดโทษ) สำหรับสถานการณ์ในตอนนี้ ป๊อกบาจะไปขออุทธรณ์ที่ศาลกีฬาโลก (CAS)
ในเรื่องนี้มีประเด็นที่น่าสนใจอยู่หลายประเด็น ซึ่งวันนี้เราจะมีทั้งคุณหมอและนักโภชนาการมาช่วยกันให้ความรู้ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกีฬาเวชศาสตร์ คือ ชนิดของสารต้องห้ามที่ตรวจพบ และ การใช้อาหารเสริมทางกีฬา
1) ชนิดของสารต้องห้ามที่ตรวจพบ : DHEA (dehydroepiandrosterone) ถือเป็นสารต้องห้ามทางการกีฬา ในกลุ่ม S1 Anabolic Androgenic Steroids (AAS) หรือ สารอนาบอลิกสเตียรอยด์ที่ห้ามใช้ตลอดเวลา (ทั้งนอกและในการแข่งขัน) อันที่จริงสารกลุ่มนี้สามารถพบได้ในร่างกายตามธรรมชาติ เนื่องจากอยู่ในกลุ่มของฮอร์โมนสเตียรอยด์ที่ร่างกายผลิตขึ้นได้เอง เช่น ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน(Testosterone), แอนโดรสเตอนิไดโอน (Androstenedione) และดีไฮโดรอิพิแอนโดรสเตอโรน (DHEA) ซึ่งนักกีฬาบางคนก็อาศัยช่องว่างนี้เพื่อหลบหลีกการตรวจสารต้องห้ามฯ โดยหันมาใช้สารที่สังเคราะห์ขึ้นนำเข้าสู่ร่างกายเพื่อเลียนแบบฮอร์โมนเหล่านี้ เพื่อหวังผลในการสร้างมวลกล้ามเนื้อ เพิ่มความแข็งแรง ช่วยในการฟื้นตัวของร่างกาย และเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขัน แต่ด้วยวิวัฒนาการที่ทันสมัยของทางห้องปฏิบัติการของ WADA ทำให้สามารถตรวจพบความผิดปกติของการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนดังกล่าวในร่างกายของนักกีฬาได้ *WADA: World Anti-Doping Agency (องค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก)
2) อาหารเสริมทางกีฬา : สิ่งที่นักกีฬาจะต้องพึงระลึกไว้เสมอ คือ การใช้อาหารเสริมทุกชนิด “มีความเสี่ยง” ที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้จากกระบวนการควบคุมผลิตภัณฑ์เหล่านี้ที่ไม่รัดกุม ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของความปลอดภัย ใช้แล้วได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ หรือการปนเปื้อนของสารอื่นๆ ที่ไม่ได้ระบุไว้ในฉลาก จากงานวิจัยของ Duiven และคณะ (ปี 2021) พบว่าจากการสุ่มอาหารเสริมทั้งหมด 66 ผลิตภัณฑ์ พบการปนเปื้อนสารต้องห้ามฯ ร้อยละ 38 (ปนเปื้อนสารในกลุ่มอนาบอลิกสเตียรอยด์มากที่สุด) ซึ่งการปนเปื้อนนั้นอาจเกิดได้ทั้งจากความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจของผู้ผลิต อาหารเสริมกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่จะปนเปื้อนสารต้องห้ามฯ ได้แก่ กลุ่มที่โฆษณาว่าสามารถช่วยเพิ่มมวลกล้ามเนื้อ ช่วยลดน้ำหนัก ช่วยให้มีพลังงาน/แรงมากขึ้น ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารสำคัญหลายๆ ชนิด และกลุ่มสมุนไพรต่างๆ (โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ขายออนไลน์และไม่มีหน้าร้าน) หากนักกีฬามีความจำเป็นต้องใช้อาหารเสริม แนะนำให้มองหาตราสัญลักษณ์เหล่านี้ (ในรูป) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แสดงว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆ ได้รับการตรวจสอบว่าปราศจากสารต้องห้ามทางการกีฬา ดังนั้น จึงอยากจะขอเน้นย้ำนักกีฬาทุกคน..ในทุกๆ ครั้งที่เลือกใช้อาหารเสริมควรวิเคราะห์ถึงความจำเป็น ประโยชน์ที่จะได้รับและความเสี่ยงที่ต้องเจอว่าคุ้มค่าที่จะใช้ไหม? ตรวจสอบแหล่งที่ซื้อ สัญลักษณ์ที่รับรองว่าผลิตภัณฑ์ปราศจากสารต้องห้ามทางการกีฬา และส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ทุกครั้งก่อนใช้ หากไม่มั่นใจให้ปรึกษาแพทย์/นักโภชนาการประจำทีม
อ้างอิง :
1) ข้อมูลบางส่วนจากเพจวิเคราะห์บอลจริงจัง
2) เพจ DCAT Doping Control Agency of Thailand
3) Duiven, E., van Loon, L. J. C., Spruijt, L., Koert, W., & de Hon, O. M. (2021). Undeclared Doping Substances are Highly Prevalent in CommercialSports Nutrition Supplements. Journal of sports science& medicine, 20(2), 328-338.
โดย ผศ.ดร.ปิยาภรณ์ ตุ้มนาค
คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
รศ.ดร.นพ.เมษัณฑ์ ปรมาธิกุล
คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี