อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทยมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ขึ้นแท่นเป็นฐานผลิตพลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) อันดับ 2 ของโลก โดยในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา (2561-2566) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment : BOI) ได้ให้ทุนในกิจการผลิตพลาสติกชีวภาพจำนวน 24 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวมกว่า 37,000 ล้านบาทครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำภายใต้แนวคิด BCG ที่จะผลักดันให้เกิดการลงทุนโดยดึงศักยภาพของไทยที่มีความหลากหลายทางชีวภาพและมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐที่มีการจัดทำมาตรการกระตุ้นการใช้พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (Green Tax Expense) อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำรายจ่ายที่ใช้ในการซื้อผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้ นิติบุคคลเป็นจำนวน 1.25 เท่าของค่าใช้จ่ายที่ได้จ่ายไป ในการขอรับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในระหว่างปี 2565-2567 ส่งผลให้อุตสาหกรรมผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพเกิดการลงทุนกว่า 19,000 ล้านบาท ตั้งแต่ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2566
ล่าสุด Braskem บริษัทผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพอันดับ 2 ของโลกได้ร่วมทุนกับเอสซีจี เคมิคอลส์ ตั้งโรงงานไบโอ-เอทิลีจังหวัดระยอง ผลิตเอทิลีนชีวภาพในไทยเพื่อป้อนตลาดโลก ซึ่งข้อมูลจาก European Bioplastics พบว่าอัตราการผลิตพลาสติกชีวภาพทั่วโลกมีการผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ2.2 ล้านตัน ในปี 2565 และคาดว่าจะพุ่งสูงขึ้น 6.3 ล้านตันในปี 2570 พลาสติกชีวภาพนำมาใช้ในตลาดจำนวนมากขึ้นโดยใช้ทดแทนพลาสติก ตั้งแต่บรรจุภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์สำหรับจัดเลี้ยง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภคยานยนต์ การเกษตร/พืชสวน ของเล่นไปจนถึงสิ่งทอและส่วนอื่นๆ อีกหลายส่วน และบรรจุภัณฑ์ยังคงเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดสำหรับพลาสติกชีวภาพ อย่างไรก็ตาม การใช้งานยังหลากหลายไปถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น ยานยนต์และการขนส่ง หรืออาคารและการก่อสร้างยังคงเพิ่มขึ้นด้วยกำลังการผลิตโพลีเมอร์สำหรับใช้งานที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย
นอกจากนี้ข้อมูลจากสถานทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.สหรัฐอเมริกา ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกาโดยที่ผลิตพลาสติกชีวภาพได้ประมาณ 150,000 ตันต่อปี ในขณะที่ประเทศไทยมีกำลังการผลิต 95,000 ตัน ซึ่งอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพมักจะผลิตพลาสติกชีวภาพจากวัตถุดิบธรรมชาติ เช่น ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง มันเทศ ข้าวสาลี ฯลฯ เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของแนวคิด BCG ที่ผลักดันให้เกิดการลงทุน โดยดึงศักยภาพของไทยที่มีความหลากหลายทางชีวภาพและเป็นแหล่งวัตถุดิบพืชเกษตร จึงเป็นจุดแข็งที่ไทยมีแหล่งวัตถุดิบหลักและบุคลากรที่มีความพร้อมรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรม ทั้งนี้ผู้ผลิตไทยมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตอีก 75,000 ตันต่อปี และตลาดมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เพราะความต้องการพลาสติกชีวภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่พัฒนาแล้วกำลังเพิ่มสูงขึ้น และร้อยละ 90 ของพลาสติกชีวภาพที่ผลิตในประเทศไทยได้ส่งออก
ทั้งนี้พลาสติกชีวภาพสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อยอดการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรของไทย อีกทั้งยังสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนด้วยการส่งเสริมจากรัฐบาลไทยด้านเศรษฐกิจ BCG รวมถึงการมีสิทธิประโยชน์และมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งส่งผลให้อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพเติบโตมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีปัจจัยด้านภูมิศาสตร์ ที่ตั้ง และเมืองแห่งเกษตรกรรมที่ทำให้ไทยมีความพร้อมด้านวัตถุดิบในการป้อนอุตสาหกรรมชีวภาพอีกมาก และยังช่วยผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวของประเทศ รวมไปถึงตอบโจทย์ทิศทางเมกะเทรนด์ของโลกอีกด้วย
มิรันตี ดีเจริญ
ศูนย์พัฒนาและวิเคราะห์สมบัติของวัสดุ
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี