ธาตุเหล็กเป็นแร่ธาตุพื้นฐานที่ร่างกายนำไปใช้ในกระบวนการต่างๆ มากมาย เช่น การลำเลียงออกซิเจนและการผลิตพลังงานในระดับเซลล์ ซึ่งมีความสำคัญต่อการเสริมสร้างสมรรถภาพทางกีฬา ดังนั้น การได้รับ การใช้ประโยชน์ และการสะสมธาตุเหล็กในปริมาณที่เพียงพอจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อนักกีฬา อย่างไรก็ตาม ภาวะพร่อง/ขาดธาตุเหล็ก (Iron Deficiency: ID) เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในกลุ่มนักกีฬา โดยมีการรายงานอัตราการเกิดโรค 15-35% ในนักกีฬาหญิง และ 3-11% ในนักกีฬาชาย นักกีฬาจะมีความเสี่ยงต่อการขาดธาตุเหล็กสูงขึ้น เมื่อมีปัจจัยเหล่านี้ร่วมด้วย
1. เพศหญิง จะมีการสูญเสียธาตุเหล็กไปกับประจำเดือน
2. เล่นกีฬาประเภทที่ต้องทำน้ำหนักตัว/จำกัดน้ำหนัก มีการจำกัดพลังงานในอาหาร ทำให้เสี่ยงต่อการได้รับธาตุเหล็กจากอาหารไม่เพียงพอ
3. เล่นกีฬาประเภทอดทน (endurance sports) เช่น วิ่งมาราธอน ไตรกีฬา ทำให้เกิดการแตกของเม็ดเลือดแดง (haemolysis) ที่รุนแรงขึ้นจากแรงที่เท้ากระแทกพื้นดิน
4. การรับประทานอาหารมังสวิรัติ เนื่องจากเนื้อสัตว์เป็นแหล่งของของธาตุเหล็กที่ดูดซึมได้ดีกว่าผัก การงดรับประทานเนื้อสัตว์ทำให้เสี่ยงต่อการได้รับธาตุเหล็กในปริมาณที่ไม่เพียงพอ
นอกเหนือจากปัจจัย 4 ข้อดังกล่าวข้างต้นแล้ว การออกกำลังกายยังส่งผลให้ 1) เกิดการสูญเสียธาตุเหล็กเพิ่มขึ้นได้จากการขับเหงื่อ ปัสสาวะเป็นเลือด (haematuria) เลือดออกในระบบทางเดินอาหาร (GI) 2) เกิดการดูดซึมธาตุเหล็กที่ลำไส้น้อยลง (เนื่องจากการออกกำลังกาย --> การหลั่งสารอักเสบ IL-6 ที่เพิ่มขึ้น--> ตับหลั่งฮอร์โมน hepcidin เพิ่มขึ้น --> ลำไส้ดูดซึมธาตุเหล็กน้อยลง) จากการศึกษาของ Peeling et al. (2008) พบว่าการออกกำลังกายส่งผลให้ระดับของ hepcidin ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ควบคุมการดูดซึมธาตุเหล็กสูงขึ้นในช่วง 3-6 ชั่วโมงหลังออกกำลังกาย ทำให้การดูดซึมธาตุเหล็กลดลง (>36%) ดังนั้น ในการวางแผนโภชนาการจึงต้องคำนึงถึงปัจจัยดังกล่าวด้วย
การประเมินและการรักษาการขาดธาตุเหล็กในนักกีฬา
การจำแนกระดับของการขาดธาตุเหล็กในกลุ่มนักกีฬาใช้วิธีการตรวจวิเคราะห์ตัวบ่งชี้ในเลือด 3 ตัว ได้แก่ เฟอริติน (ferritin) ความเข้มข้นของฮีโมโกลบิน (Hb) และ transferrin saturation โดยแบ่งได้เป็น 3 ระยะ (ตามรายละเอียดดังตารางที่ 1) โดยในแต่ละระยะจะแนะนำให้ใช้วิธีการรักษาที่แตกต่างกัน ดังนี้ในระยะที่ 1: Iron deficiency ซึ่งเป็นระยะเริ่มต้นของภาวะพร่องเหล็ก แนะนำให้ใช้หลัก Food Approach หรือ การเพิ่มการรับประทานอาหารที่เป็นแหล่งของธาตุเหล็กให้มากขึ้น ในระยะที่ 2: Iron-deficient non-anemia (IDNA) แนะนำให้รักษาโดยใช้วิธีการรับประทานธาตุเหล็กเสริม (oral iron supplement) และในระยะที่ 3: Iron- deficient anemia (DNA) แนะนำให้ใช้วิธีฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ (Intravenous iron approach)
การวางแผนโภชนาการสำหรับนักกีฬาที่มีภาวะพร่องธาตุเหล็ก (ระยะที่ 1)
ในระยะที่ 1 ซึ่งเป็นระยะเริ่มต้นของภาวะพร่องธาตุเหล็ก นักกีฬาสามารถเพิ่มการสะสมธาตุเหล็กได้จากการรับประทานอาหารที่เป็นแหล่งของธาตุเหล็กให้มากขึ้น โดยผู้ชายควรได้รับธาตุเหล็ก 8 มิลลิกรัมต่อวันผู้หญิงควรได้รับ 18 มิลลิกรัมต่อวันอาหารที่เป็นแหล่งของธาตุเหล็ก เช่น เนื้อแดง ไข่ ผักใบเขียว เป็นต้น ร่างกายจะสามารถดูดซึมธาตุเหล็กจากเนื้อสัตว์ (5-35%) ได้ดีกว่าในพืช (2-20%) แนะนำให้รับประทานอาหารดังกล่าวร่วมกับอาหารที่มีวิตามินซีสูง เช่น ส้ม มะนาว เพื่อช่วยให้เกิดการดูดซึมที่ดีขึ้น และหลีกเลี่ยงการรับประทานร่วมกับอาหารที่มีสารแทนนินสูง เช่น ชา กาแฟ และอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม ชีส เนื่องจากสารเหล่านี้จะขัดขวางการดูดซึมของธาตุเหล็ก เวลาที่เหมาะสมที่ควรรับประทาน ควรเป็นตอนเช้า เมื่อไม่มีการออกกำลังกาย แต่หากมีการออกกำลังกาย ควรรับประทานอาหารทันทีหลังออกกำลังกาย เพื่อให้การย่อยและดูดซึมอาหารดังกล่าวเสร็จสิ้นก่อนที่ฮอร์โมน hepcidin จะเพิ่มสูงสุด ซึ่งจะส่งผลให้การเกิดดูดซึมธาตุเหล็กได้ลดลง (ตามรูป)
เอกสารอ้างอิง
Peeling P, Dawson B, Goodman C, Landers G, Trinder D (2008) Athletic induced iron deficiency: new insights into the role of inflammation, cytokines and hormones. European journal of applied physiology, 103(4):381.
Sim, M., Garvican-Lewis, L. A., Cox, G. R., Govus, A., McKay, A. K. A., Stellingwerff, T., & Peeling, P. (2019). Iron considerations for the athlete: a narrative review. European journal of applied physiology, 119(7), 1463–1478.
ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา
ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี