ท่านผู้อ่านเคยสังเกตเห็นรอยแผ่นบางๆ ที่มีสีเขียว สีเหลือง สีขาว หรือสีเทา ปรากฏบนพื้นผิวของต้นไม้ ก้อนหิน หรือพื้นดินบ้างไหม? และเกิดความสงสัยหรือไม่ว่า สิ่งเหล่านั้นคืออะไรเกิดขึ้นได้อย่างไร และมีประโยชน์หรือโทษอย่างไรบ้าง
แผ่นบางๆ ที่กล่าวถึงนั้นก็คือ “ไลเคน” (lichen) จัดเป็นพืชโบราณที่ถือกำเนิดขึ้นมาก่อนพืชชั้นสูงหรือพืชมีดอก เป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่เกิดจากการอาศัยอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพากันและกัน เรียกว่า ภาวะพึ่งพากัน (Mutualism) ระหว่าง รา (fungi) กับสาหร่าย (Algae) หรือสาหร่ายสีเขียวแกมนํ้าเงิน (Cyanobacteria)
โดยราจะมีเส้นใยถักทอห่อหุ้มสาหร่าย จึงช่วยเก็บความชื้นและแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์แก่สาหร่าย ช่วยป้องกันความร้อนและแสงแดดไม่ให้แห้งตายไป ในขณะที่สาหร่ายจะสังเคราะห์แสงด้วยคลอโรฟิลล์ (chlorophyll) ของตนเอง เพื่อสร้างอาหารให้ราถือเป็นการเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันอย่างลงตัว
จากการสำรวจพบว่า มีไลเคนทั่วโลกประมาณ 25,000 ชนิดในประเทศไทยมีประมาณ 1,100 ชนิด โดยไลเคนแต่ละชนิดจะเกิดจากราหนึ่งชนิดจับคู่กับสาหร่ายอีกชนิดหนึ่งเท่านั้น ความหลากหลายของไลเคนขึ้นอยู่กับชนิดของราเป็นสำคัญ ราที่ก่อให้เกิดไลเคนมีประมาณ 13,500 ชนิด ส่วนสาหร่ายในไลเคนมีประมาณ 100 ชนิด40 สกุล การอยู่ร่วมกันของสาหร่ายและราทำให้เกิดโครงสร้างที่มีลักษณะเฉพาะของไลเคนเรียกว่า แทลลัส (Thallus) โดยประเภทของไลเคนแบ่งออกได้ ดังนี้
1.ครัสโตส (crustose) หรือไหทองโรยขมิ้น เป็นไลเคนขนาดเล็ก คล้ายฝุ่นผงอัดตัวกันเป็นแผ่นบางๆ แบนราบเกาะติดแน่นตามเปลือกไม้ ก้อนหิน มีชั้นผิวด้านบนด้านเดียว ส่วนด้านล่างแนบสนิทกับวัตถุที่เกาะ
2.โฟลิโอส (foliose) หรือผักกาดหน่อ ลักษณะคล้ายใบไม้ มีชั้นผิว 2 ด้าน ด้านบนสัมผัสอากาศ ด้านล่างมีส่วนที่คล้ายราก เกิดจากเส้นใยของรา เรียกว่า ไรซีน (Rhizine) ใช้เกาะกับวัตถุที่เกาะอาศัย (substrate) พบตามเปลือกไม้บนก้อนหิน
3.สแควมูโลส (squamulose) หรือหัตถ์ทศกัณฐ์กุมน้ำแข็ง มีลักษณะเป็นเกล็ดเล็กๆ คล้ายเกล็ดปลาหรือคล้ายต้นไม้ขนาดเล็กๆ พบตามพื้นดินและต้นไม้
4.ฟรูทิโคส (fruticose) หรือฝอยลม มีลักษณะเป็นเส้นสายคล้ายรากฝอยหรือแตกกิ่งก้านคล้ายต้นไม้
ทั้งนี้ ไลเคน เป็นสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ ที่มีความสำคัญและมีประโยชน์มากมาย เป็นทั้งอาหารและที่อยู่อาศัยของสัตว์ เช่น สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง เช่น หมัด หอยทาก ผีเสื้อ และแมลงบางชนิดสัตว์เหล่านี้จะกินไลเคนเป็นอาหาร หรือนกบางชนิดจะใช้ไลเคนเป็นรังที่อยู่อาศัย
สำหรับมนุษย์รู้จักใช้ประโยชน์จากไลเคนในด้านต่างๆ มาเป็นระยะเวลานานแล่ว เช่น ด้านอาหาร ไลเคนไม่มีแป้งและเซลลูโลสที่แท้จริง แต่มีสารพวกไลเคนนิน (Lichenin) ที่ผนังเซลล์ของราซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นอาหารได้ อาทิ ใช้หมักทำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใช้ทำเป็นสีย้อมผ้า ไลเคนบางชนิดยังมีสารยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์และไวรัส จึงมีความสำคัญมากในด้านการแพทย์
นอกจากนี้ไลเคนยังมีคุณสมบัติบางประการที่เหมาะแก่การเป็นตัวบ่งชี้คุณภาพอากาศ เพราะไลเคนแต่ละชนิดมีความทนทานต่อมลพิษในระดับที่ต่างกัน ดังนี้
-บางชนิดมีความอ่อนไหวสูง หากพบไลเคนกลุ่มนี้แสดงว่าบริเวณนั้นมีอากาศที่บริสุทธิ์
-บางชนิดค่อนข้างทนทานต่อมลพิษได้ในระดับหนึ่งแสดงว่าคุณภาพอากาศอยู่ในระดับพอใช้
แต่หากพบไลเคนกลุ่มที่ทนทานต่อระดับมลภาวะสูงเป็นหลัก แสดงว่าคุณภาพอากาศบริเวณนั้นเข้าขั้นน่าเป็นห่วง และหากไม่พบไลเคนในบริเวณนั้นๆ แสดงว่าคุณภาพอากาศเข้าขั้นวิกฤตรุนแรง อย่างเช่นในเขตอุตสาหกรรม เขตเมืองที่มีมลพิษ หรือบริเวณที่มีการจราจรหนาแน่น
เรียบเรียงข้อมูลจาก :
https://www.seub.or.th/bloging/knowledge/%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B5%E0%B8%AB%E0%B8%B7%E0%B8%94/%E0%B9%84%E0%B8%A5%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%99/
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%84%E0%B8%A5%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%99
https://readthecloud.co/microorganisms-benjakitti-park/
http://www.satriwit3.ac.th/external_newsblog.php?links=2101
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี