การบาดเจ็บเอ็นไขว้หน้า (Anterior Cruciate Ligament : ACL) เป็นการบาดเจ็บที่พบได้บ่อยในกีฬาที่มีการวิ่งมาด้วยความเร็วสูงและมีการเปลี่ยนทิศทางอย่างกะทันหัน มักพบการบาดเจ็บนี้ในขณะที่ไม่มีการปะทะ (non-contact) โดยการเคลื่อนของข้อเข่าในระนาบ frontal หรือที่รู้จักกันว่า dynamic knee valgus เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการฉีกขาดของเอนไขว้หน้าของข้อเข่า การรักษามีทั้งการรักษาแบบรับการผ่าตัด (ACL Reconstruction (ACLR)) และไม่ผ่าตัด แต่ปัญหาคือ มีความเป็นไปได้สูงที่นักกีฬาจะไม่สามารถกลับไปแข่งขันได้ประสิทธิภาพดีเท่าเดิม ดังนั้นจึงมีการศึกษามากมายพยายามหาเกณฑ์ในการประเมินว่านักกีฬามีความพร้อมแล้วที่จะสามารถกลับไปเล่นกีฬาอีกครั้งและมีความเสี่ยงต่ำที่จะกลับมาเจ็บอีก เช่น การวัดความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ การเคลื่อนที่เต็มช่วงการเคลื่อนไหว ความมั่นคงของข้อเข่า ระบบประสาทและกล้ามเนื้อที่ทำงานสัมพันธ์กับรยางค์ล่าง ความทนทานของกล้ามเนื้อและปัจจัยทางด้านจิตใจ เนื่องจากนักกีฬามีความเฉพาะเจาะจงในแต่ละบุคคล ดังนั้น การทดสอบที่ใช้ในประเมินจึงมีความจำเป็นต้องปรับให้เหมาะสมกับนักกีฬาแต่ละบุคคลด้วย คำถามที่พบได้บ่อยจากนักกีฬาหรือผู้ที่มีอาการบาดเจ็บ ACL คือ “ต้องพักนานเท่าไหร่จึงจะกลับมาเล่นได้อีก?” “จะสามารถกลับไปแข่งขันได้อีกครั้งได้หรือไม่?” “กลับไปเล่นแล้วจะเล่นไปเหมือนเดิมไหม?” เพราะฉะนั้นการฟื้นฟูคุณภาพการเคลื่อนไหวจึงเป็นส่วนสำคัญ ดังนั้นหลังผ่าตัดหรือหลังการรักษาแบบไม่ผ่าตัด จึงต้องมีการผสมผสานการฝึกการเคลื่อนไหวเพื่อฟื้นฟูการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อที่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหว ความฝึกการเคลื่อนไหวใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานประสานกัน (coordination) ของกล้ามเนื้อ
ในมุมของชีวกลศาสตร์การกีฬา เรื่องของข้อจำกัดการเคลื่อนไหว (range of motion) การเปลี่ยนแปลงช่วงของการเคลื่อนไหวอาจส่งผลทำให้ความสามารถในการเล่นกีฬาลดลง เนื่องจากการเคลื่อนไหวไม่สามารถทำได้เต็มช่วงของการเคลื่อนไหว ตัวอย่างเช่น หลังผ่าตัดข้อเข่า เรื่องของความไม่สมมาตร (asymmetry) ของการลงน้ำหนัก ดังนั้น การทำการทดสอบเพื่อประเมินความพร้อมในการกลับไปฝึกซ้อมอีกครั้งหรือกลับไปสู่การแข่งขันอีกครั้งจึงมีความจำเป็น
ในห้องปฏิบัติการทางชีวกลศาสตร์การกีฬา อาจทำการประเมินด้วยการใช้กล้องวิเคราะห์การเคลื่อนไหวเชิง 3 มิติ และแผ่นวัดแรง (force platform) ควบคู่กัน โดยการทดสอบจะให้นักกีฬากระโดดลงสู่พื้นในแนวดิ่ง (drop vertical jump) ทำท่า Squat ด้วยขาข้างเดียวโดยให้ทำทั้งขาซ้ายและขาขวา (single-leg squat) และการวิ่งและเปลี่ยนทิศทางแบบกระทันหัน (sidestep-cutting) ทำการบันทึกด้วยกล้องวิเคราะห์เชิง 3 มิติ และแผ่นวัดแรง หรือมีการทำการทดสอบอื่นร่วมด้วย เช่น การทดสอบความแข็งแรงด้วยเครื่อง isokinetic การทำการทดสอบ functional movement screening การประเมินทางการแพทย์และให้นักกีฬาตอบแบบสอบถาม ดังตัวอย่างแสดงในรูป
รูปที่ 1 แสดงรูปจากโปรแกรมวิเคราะห์เชิง 3 มิติขณะทำการเคลื่อนไหวในท่าต่างๆ โดย a) แสดงท่าขณะทำ Drop vertical jump 40 เซนติเมตร b) ท่าขณะทำ Single leg squat โดยยืนด้วยขาข้างซ้ายและขวา และ c) ท่าขณะทำ 45ํ Planned sidestepping
จากรูปที่ 1a) เป็นการประเมินเพื่อดูความแตกต่างระหว่างมุมการงอและเหยียดของข้อเข่าและข้อสะโพกข้างซ้ายและขวาสูงสุด พบว่ามีความต่างกันเล็กน้อยระหว่างขาสองข้าง นักกีฬาสามารถยืดลำตัวตั้งตรงได้ดี มีเข่าขวางอเล็กน้อยขณะที่เท้าสัมผัสพื้น มีค่าแรงปฏิกิริยาจากพื้น (Ground Reaction Force (GRF)) สูง อาจเป็นเพราะนักกีฬาใช้ขาขวาออกก่อนเวลาลงจากล่อง มีความไม่สมมาตรเล็กน้อย ขณะลงน้ำหนักมี knee valgus เล็กน้อย สังเกตได้จากมีทิศทางของแรงปฏิกิริยาจากพื้นผ่านทางด้านในของข้อเข่า ขาข้างขวามีการกระจายน้ำหนักไปยังข้อสะโพกเพราะโมเมนต์ของการเหยียดเข่าลดลงขณะที่โมเมนต์ของการเหยียดสะโพกเพิ่มขึ้น
รูปที่ 1b) การประเมินแสดงให้เห็นว่าไม่พบความแตกต่างขณะทำ Single-leg squat ซ้ายและขวามากนัก เนื่องจากนักกีฬาสามารถทำการงอข้อเข่าและข้อสะโพกของขาทั้งสองข้างได้ใกล้เคียงกัน สามารถควบคุมแรงและโมเมนต์ และการ sway ไปทางด้านในและด้านนอกได้
ใกล้เคียงกันระหว่างขาทั้งสองข้าง
1c) การประเมินแสดงให้เห็นว่า เมื่อพิจารณาถึงขาข้างถนัด พบว่ามีความต่างกันเล็กน้อยในช่วงวิ่งเร็ว ช่วงที่เท้าสัมผัสพื้นและมีการเปลี่ยนทิศทางการเคลื่อนที่ระหว่างขาข้างซ้ายและขวา ขณะลงน้ำหนัก (Weight acceptance) ไม่มีน้ำหนักที่ไม่พึงประสงค์ลงในส่วน Valgus มากของขาทั้งสองข้าง สิ่งที่ต้องระวัง คือ ขณะสร้างแรงขาข้างขวา มีการงอของข้อเข่าและข้อสะโพกลดลง ซึ่งบ่งชี้ถึงการมี Stiff ขณะ Right sidestep ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุมาจากการลดลงของโมเมนต์ของการเหยียดของข้อเข่า ค่า GRF เหมือนกันทั้งสองขา มี pattern เหมือนกันในการเพิ่ม loading ที่ข้อสะโพกสัมพันธ์กับข้อเข่าของขาข้างขวาเหมือนที่พบในการทำ drop vertical jump
จะเห็นได้ว่า เพื่อให้มั่นใจว่านักกีฬาจะสามารถกลับสู่สนามได้อีกครั้ง จำเป็นต้องมีการทดสอบเพื่อประเมินหลังจากรับการรักษา และหลังจาก ACLR ดังนั้นการฝึกการเคลื่อนไหวที่มีความเฉพาะเจาะจงสำหรับนักกีฬาแต่ละบุคคล มีสิ่งสำคัญที่จะต้องพิจารณา ได้แก่ เรื่องเกี่ยวกับประสาทและกล้ามเนื้อ ชีวกลศาสตร์ ปัจจัยทางประสาทสัมผัสและประสาทรับรู้ ปัจจัยเหล่านี้มีผลต่อการฝึกการเคลื่อนไหวใหม่ โดยต้องมีการติดตามความก้าวหน้าของประสิทธิภาพการทำงานประสานงานและการเรียนรู้ของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ความสมมาตรของขาข้างที่บาดเจ็บและไม่บาดเจ็บ และฝึกฟื้นฟูและการเคลื่อนไหวในสภาพแวดล้อมที่สมจริง การทดสอบทางด้านชีวกลศาสตร์การกีฬาเป็นอีกด้านที่ช่วยให้ข้อมูลให้กับผู้ฝึกสอนและทีมงานในการออกแบบโปรแกรมการฝึกซ้อมที่มีประสิทธิภาพ การวิเคราะห์การเคลื่อนไหว อาจทำเพื่อติดตามความก้าวหน้าอย่างเป็นขั้นตอน อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจให้นักกีฬากลับไปเล่น (return to play) ต้องเป็นการตัดสินใจร่วมกันกับทีมงานในทุกๆด้าน ประกอบไปด้วยแพทย์ นักกายภาพบำบัด นักวิทยาศาสตร์การกีฬา และทีมงานนอกจากการประเมินทางกายภาพแล้วการประเมินทางจิตวิทยาก็มีความสำคัญเพราะนักกีฬาจะมีความกลัวเจ็บ หรือกลัวการเล่นที่ทำให้อาจเกิดการบาดเจ็บขึ้นอีก ดังนั้น การทำงานร่วมกันทั้งทีมงานและนักกีฬาจะทำให้นักกีฬาสามารถกลับสู่สนามฝึกซ้อมและแข่งขันได้ในที่สุด
เอกสารอ้างอิง: Buckthorpe, M. (2021). Recommendations for movement re-training after ACL reconstruction. Sports Medicine, 1-18. และ Sports Biomechanics Laboratory, Liverpool John Moores University, UK
ผศ. ดร. ปรัญชญา แจ่มกระจ่าง
รองคณบดี ฝ่ายวิจัย วิชาการและวิเทศสัมพันธ์
วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล
ผู้เชี่ยวชาญวิทยาศาสตร์การกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี