การแข่งขันกีฬาไม่ว่าจะขนาดเล็กระดับกีฬาสีหรือว่าขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอย่างกีฬาโอลิมปิกนั้น สิ่งที่จะเกิดคู่กันเสมอกับเกมการแข่งขัน นอกเหนือจากชัยชนะหรือความพ่ายแพ้ที่นักกีฬาจะได้รับแล้ว สิ่งที่คู่กันมาเสมอก็คือการบาดเจ็บและการเจ็บป่วยในขณะเตรียมตัวแข่งขันหรือในขณะแข่งขัน
ถามว่านักกีฬาบาดเจ็บกันขนาดไหนในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ตัวเลขกลมๆ คือประมาณ 10% ครับ สถิติจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปี 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น มีนักกีฬาเข้าร่วมทั้งหมด 11,300 คน มีนักกีฬาบาดเจ็บประมาณ 1,000 คน (คิดเป็นตัวเลขประมาณ 9% กว่าๆ) นักกีฬาที่อัตราการบาดเจ็บที่มาเป็นอันดับหนึ่งได้แก่ มวยสากล และ BMX racing ซึ่งมีอัตราการบาดเจ็บประมาณ 27% ตามมาด้วย BMX freestyle (22%)สเกตบอร์ด (21%) คาราเต้ (19%) แฮนด์บอล (18%)มวยปล้ำ (16%) กอล์ฟ (14%) ปีนหน้าผา (16%) ยูโด (14%) และเทควันโด (14%) ตามลำดับ ข้อสังเกตคือ ส่วนใหญ่เป็นกีฬาต่อสู้และกีฬาผาดโผน
ส่วนการเจ็บป่วยในมหกรรมกีฬาใหญ่ๆ จะมีสถิติอยู่ที่ประมาณ 5-8% การเจ็บป่วยที่มาอันดับหนึ่ง คือ การเจ็บป่วยของระบบทางเดินหายใจ ซึ่งก็คือ “โรคหวัด” นั่นเอง ยกเว้นในโอลิมปิกครั้งที่ผ่านมาที่โตเกียว มีนักกีฬาเจ็บป่วยทั้งหมด 4% โดยสาเหตุของการเจ็บป่วยอันดับหนึ่ง คือ โรคผิวหนัง ตามมาด้วยโรคระบบทางเดินอาหาร และโรคระบบทางเดินหายใจ ทั้งที่เป็นปีที่โควิดเพิ่งซาลง แต่สถิติระบบโรคทางเดินหายใจกลับลดลง ทั้งนี้เป็นผลมาจากการที่แต่ละทีมไม่กล้าส่งข้อมูลการเจ็บป่วยจากโรคหวัดเข้ามาให้กับส่วนกลาง ทำให้ตัวเลขนี้เพี้ยนจากความเป็นจริงไป สำหรับนักกีฬาที่เจ็บป่วยบ่อยที่สุดในโอลิมปิกครั้งที่แล้ว คือนักกีฬาวิ่งมาราธอน ระบำใต้น้ำ และสเกตบอร์ด
สำหรับโอลิมปิกเกมในปีนี้จัดขึ้นที่กรุงปารีสประเทศฝรั่งเศส ฝ่ายแพทย์ที่จัดการแข่งขันก็พยามทำทุกอย่างเพื่อให้นักกีฬาเกิดการบาดเจ็บน้อยที่สุด สำหรับนักกีฬาไทย
มีนักกีฬาที่ในข่ายที่มีโอกาสบาดเจ็บเยอะ ได้แก่ มวยสากลทั้ง 8 คน BMX 1 คน สเกตบอร์ด 1 คน (ที่มีนักกีฬาอายุน้อยที่สุดในโอลิมปิกครั้งนี้เสียด้วย) ยูโด 1 คน และ
เทควันโด 3 คน ขอให้นักสู้เหล่านี้ประสบความสำเร็จปราศจากการบาดเจ็บใดๆ นะครับ
สำหรับทีมแพทย์ที่เดินทางมาดูแลนักกีฬาโอลิมปิกในครั้งนี้ ได้แก่ นพ.วารินทร์ ตันฑ์ศุภศิริ ประธานฝ่ายแพทย์และวิทยาศาสตร์การกีฬา คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย นพ.อี๊ด ลอประยูร จากโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ นพ.ชนินทร์ ล่ำซำ จากโรงพยาบาลศิริราช นพ.ธรรมโรจน์ ปุญญโชติ จากโรงพยาบาลตำรวจ นพ.เมษัณฑ์ ปรมาธิกุล จากโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ และ พว.สุวิทย์ เกิดบำรุง จากการกีฬาแห่งประเทศไทย ทำงานกันอย่างเต็มที่ตั้งแต่เช้าจรดคํ่าทั้งในแง่ของการป้องกันการบาดเจ็บ การรักษาการบาดเจ็บ รักษาความเจ็บป่วย การฟื้นฟูสมรรถภาพ โภชนาการ และสภาพจิตใจ ร่วมกับทีมนักกายภาพบำบัด เจ้าหน้าที่นวดนักโภชนาการและนักจิตวิทยา ให้กับทัพนักกีฬาทั้ง 51 คน โค้ชและเจ้าหน้าที่ของทีมชาติไทยอย่างเต็มความสามารถ
เรามาติดตามดูกันครับว่าเกมนี้จะเกิดการบาดเจ็บมากน้อยขนาดไหน (หวังว่าคงไม่มาก) มาช่วยเป็นกำลังใจให้นักกีฬาไทยกันครับ
รศ.นพ.ดร.เมษัณฑ์ ปรมาธิกุล
ฝ่ายวิชาการ สมาคมกีฬาเวชศาสตร์แห่งประเทศไทย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี