คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) หมายถึง ปริมาณก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases : GHGs) ที่ถูกปล่อยออกมาในบรรยากาศผ่านกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ วัดเป็นหน่วยตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2e) ซึ่งการคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ช่วยให้เราเข้าใจถึงผลกระทบของกิจกรรมต่างๆ ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ความสำคัญของคาร์บอนฟุตพริ้นท์
1.การวัดผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ การคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ช่วยให้เราทราบถึงปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่างๆ ทำให้สามารถตระหนักถึงผลกระทบที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
2.การวางแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การรู้ปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ช่วยในการวางแผนและดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกภาคส่วน เช่น การเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียน การปรับปรุงกระบวนการผลิต และการส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
3.การรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม องค์กรและภาคธุรกิจมีการตรวจวัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อรายงานคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ซึ่งเป็นการแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการสร้างภาพลักษณ์ และความน่าเชื่อถือให้กับผู้บริโภค
วิธีการคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์
1.การรวบรวมข้อมูล การเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการใช้พลังงาน การขนส่ง การใช้วัตถุดิบ และการจัดการของเสีย
2.การคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ใช้ข้อมูลที่รวบรวมและแปลงเป็นหน่วยของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2e) โดยใช้ปัจจัยการแปลงที่กำหนด
3.การรายงานและวิเคราะห์ นำผลการคำนวณมารายงานและวิเคราะห์เพื่อหาวิธีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ตัวอย่างกิจกรรมที่มีคาร์บอนฟุตพริ้นท์สูง
1.การใช้พลังงานไฟฟ้าและการเผาเชื้อเพลิง การใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือนและโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลในการขนส่งและการผลิต
2.การขนส่ง การใช้รถยนต์ เครื่องบิน และการขนส่งสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง
3.การเกษตรและการเลี้ยงสัตว์ การทำเกษตรและการเลี้ยงสัตว์ที่ปล่อยก๊าซมีเทนและไนตรัสออกไซด์
4.การผลิตสินค้าและบริการ กระบวนการผลิตที่ใช้ทรัพยากรมากและปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง เช่น การผลิตเหล็ก ซีเมนต์ และพลาสติก
การลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์
1.การใช้พลังงานหมุนเวียน เปลี่ยนไปใช้พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานชีวมวล
2.การปรับปรุงกระบวนการผลิต ใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
3.การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร การลดการสูญเสียและการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
4.การส่งเสริมการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้ระบบขนส่งสาธารณะ การเดินทางด้วยจักรยาน และการใช้รถยนต์ไฟฟ้า
ทั้งนี้ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ดำเนินงานด้าน ประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-efficiency) โดยมีตัวชี้วัดด้านผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ที่เป็นตัวชี้วัดหนึ่งในการประเมิน Eco-efficiency ซึ่งการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจะเป็นการคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร โดยใช้หลักการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization, CFO) ตามวิธีการที่กำหนดโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ซึ่งปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจะวัดออกมาในหน่วยตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2e) โดยพิจารณาจาก 3 ส่วนหลัก แบ่งเป็น Scope ดังนี้
Scope 1 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรงขององค์กร เช่น การเผาไหม้เชื้อเพลิงในเครื่องจักร การเผาไหม้ของเชื้อเพลิงในยานพาหนะขององค์กร การใช้สารทำความเย็นในเครื่องปรับอากาศ การใช้สารดับเพลิง การบำบัดน้ำเสีย
Scope 2 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการนำเข้าพลังงานจากภายนอก เช่น การซื้อไฟฟ้ามาใช้ในองค์กร
Scope 3 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่นๆ นอกเหนือ Scope 1 และ 2 เช่น การส่งกำจัดขยะ การใช้กระดาษ การใช้น้ำประปา
ผลการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของ วว. ปีงบประมาณ 2566 เท่ากับ 5,885.094 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2e)
จากข้อมูลดังกล่าวพบว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดคือ Scope 2 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 89.76% ในส่วนของ Scope 2มาจากการใช้ไฟฟ้าขององค์กร ดังนั้นการลดการใช้ไฟฟ้าขององค์กรจึงเป็นเรื่องสำคัญ ปัจจุบัน วว. อยู่ระหว่างดำเนินการติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อลดค่าใช้จ่ายและยังสามารถช่วยลดก๊าซเรือนกระจกขององค์กรได้อีกด้วย ทั้งนี้ขอความร่วมมือทุกท่านช่วยกันประหยัดพลังงาน นอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายแล้วยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย
แหล่งอ้างอิง
1.องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก.
2.World Resources Institute (WRI). WRI
3.Carbon Trust. Carbon Trust
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี