จากตอนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปูพื้นฐานความเข้าใจของการใช้อุปกรณ์เครื่องติดตามกิจกรรม ในตอนนี้ จะกล่าวถึงการใช้งาน ของอุปกรณ์ดังกล่าว เพื่อประโยชน์ในด้านกีฬาเวชศาสตร์ ที่มีหัวข้อบรรยาย ในงาน ACSM meeting 2024 ที่ เมืองบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
อันเนื่องมาจาก ประโยชน์ข้อหนึ่ง ของอุปกรณ์ที่สามารถติดตามกิจวัตรประจำวันของเรา ได้ตั้งแต่ ตื่นนอนจนกระทั่งหลับ และมีการประมวลผล และ แสดงผลออกมาเป็นรูปแบบ ทำให้ ความสนใจในการสังเกต กิจวัตรประจำวันของเรามีมากขึ้น มีรายงานการศึกษาจากมหาวิทยาลัย University of Tennessee at Chattanooga เมือง Chattanooga รัฐ Tennessee เกี่ยวกับการใช้งานอุปกรณ์ เครื่องติดตามกิจกรรม ในเด็กนักเรียนช่วงอายุ 8-11 ปี เพื่อประเมินกิจกรรมทางกาย หลังจากมีการใช้อุปกรณ์ติดตาม พบว่า ค่าเฉลี่ยของระยะเวลากิจกรรมทางกายระดับกลางถึงสูง (Moderate to vigorous activity) ของเด็กนักเรียนกลุ่มดังกล่าวสูงขึ้น 10% อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ใช้อุปกรณ์ดังกล่าว นอกจากนี้ยังพบอีกว่า สามารถช่วยส่งเสริมการนับก้าวการเดินได้มากขึ้นอีก 15% อีกด้วย
ส่วนในด้านของการพัฒนาศักยภาพ สู่ความเป็นเลิศของนักกีฬา ก็ยังสามารถใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์ติดตามกิจกรรมได้ เนื่องจากอุปกรณ์จะทำหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูล รูปแบบ ระยะเวลา ระยะทาง ความหนักเบาของการฝึกซ้อมของนักกีฬา เพื่อส่งให้ผู้ฝึกสอนวางแผน และวิเคราะห์การฝึกซ้อม เพื่อให้มีผลที่ดียิ่งขึ้นต่อนักกีฬา และแม้ว่าในปัจจุบัน อุปกรณ์อาจจะยังไม่สามารถ นำข้อมูลเหล่านี้ มาวิเคราะห์ได้ด้วยตัวโปรแกรมเอง แต่ด้วยพัฒนาการของ AI (artificial intelligence) และ machine learning นั้น ในอนาคต อาจมีโปรแกรมที่สามารถนำข้อมูลเหล่านี้ มาให้คำแนะนำสำหรับการออกกำลังกาย หรือการฝึกซ้อมที่เหมาะสมกับแต่ละตัวบุคคลได้อีกด้วย
ข้อมูลจากการประชุมชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของการใช้อุปกรณ์ดังกล่าว ในแง่ที่สามารถเป็นตัวกระตุ้น ให้มีการเพิ่มขึ้น ของกิจกรรมทางกาย ในผู้ใช้อุปกรณ์ ผ่านการเพิ่มการรับรู้ของกิจกรรมทางกาย ช่วยให้ผู้ใช้ได้รับแรงจูงใจในการบรรลุเป้าหมายและปรับปรุงสุขภาพและไลฟ์สไตล์ของตนเอง
อีกข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นที่พูดถึงในการใช้ อุปกรณ์ติดตามกิจกรรม คือ ความแม่นยำของตัวเซ็นเซอร์ ของอุปกรณ์ ในการตรวจวัดค่าต่างๆ ของร่างกาย ซึ่ง แนวโน้มในปัจจุบัน ความแม่นยำของอุปกรณ์ไม่ได้สูงมาก แต่ก็ยังสามารถใช้เป็นตัวช่วยเบื้องตัน ในการตรวจหาความผิดปกติบางอย่าง (screening) เพื่อให้ผู้ตรวจพบ ความผิดปกติ สามารถเข้ารับการตรวจรักษาในระบบสาธารณสุข ได้อย่างถูกต้อง และทันท่วงที นอกจากนี้ อาจต้องพิจารณาจากอาการแวดล้อมอื่นๆด้วย โดยที่ไม่ใช่พิจารณาจากข้อมูลที่ได้จากอุปกรณ์ แต่เพียงอย่างเดียว
ในยุคที่นวัตกรรมต่างๆ มีผลต่อการใช้ชีวิตของผู้คน อุปกรณ์ติดตามกิจกรรมก็เป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่ทำให้การเก็บ และนำเสนอข้อมูลเชิงสุขภาพ ทำได้ง่ายและแม่นยำขึ้นซึ่งอาจนำมาซึ่งสุขภาพที่ดีขึ้นของผู้ใช้งานด้วย อย่างไรก็ตามแต่อุปกรณ์ทั้งหลายก็ไม่มีประโยชน์เลย ถ้าผู้คนไม่ออกกำลังกายดังนั้น เรามาจับอุปกรณ์ที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น Smartwatch,Smartband หรือ รูปแบบอื่นๆ แต่ไม่เคยใช้โหมดการจับการเคลื่อนไหว หรือกิจกรรมทางกาย แล้วออกไปออกกำลังกายขยับร่างกายเพื่อสุขภาพที่ดี ด้วยกันครับ
นพ.ประกาศิต ชนะสิทธิ์
ศัลยแพทย์กระดูก และเวชศาสตร์การกีฬา
โรงพยาบาลนครธน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี