เป็นเรื่องที่ทุกคนทราบกันอยู่แล้วว่า “โปรตีน” นั้นถือว่าเป็น “สารอาหารหลัก” ที่ร่างกายต้องการและมีความจำเป็นต้องได้รับจากอาหารทุกวัน ซึ่งโปรตีนมีองค์ประกอบพื้นฐานที่เรียกว่า “กรดอะมิโน (amino acid)” โปรตีนนอกจากจะมีความสำคัญต่อการสร้างกล้ามเนื้อแล้ว ยังมีหน้าที่อื่นๆ ที่สำคัญภายในร่างกายอีก เช่น ทำหน้าที่เป็นเอนไซม์ พาสารเข้า-ออกจากเซลล์ เกี่ยวข้องกับการส่งสัญญาณ และทำหน้าที่อื่นๆ อีกหลายอย่างที่สำคัญ นอกจากนี้ ยังทำหน้าที่เป็นแหล่งพลังงานสำรองในร่างกายอีกด้วย (ขณะอดอาหาร หรือ ออกกำลังกายเป็นระยะเวลานาน)
โปรตีนสำคัญอย่างไรกับนักกีฬา?
ในนักกีฬาหรือผู้ที่ออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อมักให้ความสำคัญกับการฝึกซ้อมเพียงเดียวและละเลยที่จะให้ความสำคัญกับโภชนาการโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการบริโภคโปรตีน ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น การไม่ทราบปริมาณโปรตีนที่ต้องได้รับในแต่ละวันหรือแต่ละมื้อ ปัญหาในการหาแหล่งโปรตีนที่เหมาะสม ข้อจำกัดในเรื่องของเวลาในการกิน หรือการมีพฤติกรรมการกินที่ไม่เหมาะสม ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เองที่อาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการปรับตัวของกล้ามเนื้อภายหลังการออกกำลังกายได้
รูปที่ 1 ผลของการออกกำลังกายแบบแรงต้าน และการกินโปรตีนต่อการกระตุ้นการสังเคราะห์โปรตีนภายหลังการออกกำลังกาย (Churchward-Venne et al, 2012)
โดยปกติแล้วโปรตีนในกล้ามเนื้อของคนเราจะมีการสร้าง (Muscle Protein Synthesis; MPS) และสลาย(Muscle Protein Breakdown; MPB) อยู่ตลอดเวลา โดยสมดุลของการสร้างและสลายจะถูกเรียกว่า “สมดุลโปรตีนรวมในกล้ามเนื้อ (Net Muscle Protein Balance; NMPB)” ซึ่งจะเป็นตัวบ่งชี้การเปลี่ยนแปลงของกล้ามเนื้อในช่วงเวลานั้นๆ หากสมดุลโปรตีนเป็นบวก หมายถึง โปรตีนในกล้ามเนื้อโดยรวมจะมีการสร้างมากกว่าการสลาย(ส่งผลให้มวลกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้นได้) หากสมดุลโปรตีนเป็นลบ หมายถึง โปรตีนในกล้ามเนื้อจะมีการสลายมากกว่าการสร้าง (ส่งผลให้มวลกล้ามเนื้อลดลงได้)
ปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมกระบวนการสังเคราะห์โปรตีนในกล้ามเนื้อ
ข้อมูลจากงานวิจัย ในรูปที่ 1 พบว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อทำให้อัตราการสังเคราะห์โปรตีนเพิ่มขึ้นมี 2 ปัจจัยหลักๆ คือ การออกกำลังกาย และการบริโภคโปรตีนหลังการออกกำลังกาย โดยจากการศึกษาพบว่าการออกกำลังกายอย่างเดียวก็สามารถที่จะกระตุ้นให้เกิดสังเคราะห์โปรตีนได้ และอาจส่งผลได้ยาวนาน 24-48 ชั่วโมง (เส้นประ) แต่เมื่อเปรียบเทียบระหว่างผู้ที่ได้รับโปรตีนภายหลังการออกกำลังกายกับผู้ที่ไม่ได้รับ พบว่าในกลุ่มผู้ที่ได้รับ (เส้นทึบ) มีอัตราการสังเคราะห์โปรตีนที่มากกว่า ส่งผลทำให้สมดุลโปรตีนรวมในกล้ามเนื้อเป็นบวก (MPS>MPB) กล้ามเนื้อเกิดการพัฒนาได้ดีกว่า ทั้งนี้เป็นเพราะว่าการออกกำลังกายแม้จะทำให้เกิดการสังเคราะห์โปรตีนที่เพิ่มขึ้น แต่การสลายโปรตีนก็จะเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน และการสลายจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหากไม่ได้รับประทานโปรตีน จะส่งผลทำให้สมดุลโปรตีนรวมในกล้ามเนื้อเป็นลบ (MPB>MPS) อันเนื่องมาจากการที่ร่างกายจำเป็นต้องสลายโปรตีนในกล้ามเนื้อออกมาเพื่อใช้ในกระบวนซ่อมแซมเนื้อเยื่อต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลังออกกำลังกาย ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวนักกีฬาจึงควรบริโภคโปรตีนหลังการออกกำลังกาย
เอกสารอ้างอิง:
Churchward-Venne, T. A., Burd, N. A., & Phillips, S. M. (2012). Nutritional regulation of muscle protein synthesis with resistance exercise: strategies to enhance anabolism. Nutrition & metabolism, 9(1), 40.
Tipton, K. D., & Wolfe, R. R. (2001). Exercise, protein metabolism, and muscle growth. International journal of sport nutrition and exercise metabolism, 11(1), 109–132
ปวริศร์ อัศวนนทาวงศ์
นิสิตระดับบัณฑิตศึกษาหลักสูตร
วิทยาศาสตร์การกีฬาและการออกกำลังกาย
ผ.ศ.ดร. ปิยาภรณ์ ตุ้มนาค
คณะวิทยาศาสตร์การกีฬาและสุขภาพ
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี