ภาวะโลกร้อนไม่ใช่เรื่องของความรู้สึกเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของข้อมูลและหลักฐานที่พิสูจน์ได้จากเหตุการณ์ต่างๆ ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยของเราด้วย ตั้งแต่ ปี 2522 เกิดปะการังฟอกขาวครั้งแรกในประเทศไทย ปี 2534 ปะการังฟอกขาวรุนแรงในทะเลอันดามันในช่วงฤดูร้อน ปี 2541 เกิดปรากฏการณ์ฟอกขาวทั่วโลกรวมถึงไทยด้วย นับเป็นหายนะครั้งใหญ่ของแนวปะการัง ปี 2548 ปะการังฟอกขาวครั้งล่าสุด เกิดขึ้นทั้งฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย นอกจากนี้ในปีเดียวกันยังเกิดภัยแล้งครั้งใหญ่ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนมากกว่า 11 ล้านคน พื้นที่การเกษตรเสียหายเกือบ 14 ล้านไร่ คิดเป็นมูลค่า 7.6 พันล้านบาท เป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี ที่นิคมอุตสาหกรรมแถบภาคตะวันออกขาดแคลนน้ำขั้นวิกฤต จนเกิดเหตุแย่งชิงน้ำจากชาวบ้าน ชาวสวน ชาวไร่และชาวนา ปี 2549 ปีแห่งโคลนถล่มและอุกทกภัยครั้งใหญ่ในเดือนพฤษภาคม น้ำป่าไหลหลากและโคลนถล่ม 5 จังหวัดทางภาคเหนือ มีผู้เสียชีวิต 88 ศพ เสียหายขั้นต่ำ 1,300 ล้านบาทกันยายนและตุลาคมเกิดวิกฤตน้ำท่วม 47 จังหวัด กลายเป็นพื้นที่ประสบอุทกภัย มีผู้เสียชีวิต 337 ศพ ประชาชนเดือดร้อน 5.2 ล้านคน ความเสียหายมากกว่า 7,700 ล้านบาทต้องใช้เวลาฟื้นฟูเยียวยาจนถึงปลายปี ซึ่งตั้งแต่ปี 2494 เป็นต้นมาอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย และอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยของประเทศไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เมื่อหันมาดูประเทศในภูมิภาคอื่นๆ กันบ้าง ปี 2546 คลื่นความร้อนที่รุนแรงที่สุดในรอบ 150 ปี โจมตีประเทศในแถบยุโรป ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 40,000 ศพ ปี 2548 ที่ประเทศอินเดีย มีปริมาณน้ำฝนมากถึง 944 มิลลิเมตร ภายใน 24 ชั่วโมง ทำให้เมืองมุมไบ ถูกน้ำท่วมสูง 2 เมตร และมีผู้เสียชีวิตราว 1,000 ศพ ยิ่งไปกว่านั้นภาวะโลกร้อนยังส่งผลให้ยุงแพร่กระจายเข้าไปในหลายพื้นที่ที่อากาศอบอุ่นชื้นกว่าเดิม ทั้งบนภูเขาสูงและในแนวละติจูดที่สูงขึ้น ประชากรหลายล้านคนในทวีปแอฟริกาเจ็บป่วยเพราะการระบาดของโรคมาลาเรียปี 2549 เมื่อชั้นดินเยือกแข็งหรือแผ่นน้ำแข็งใต้ดินเริ่มละลาย ต้นสนแถบอะแลสกาที่หยั่งรากถึงชั้นดินนี้จึงเอียง อาคารบ้านเรือนหลายแห่งในรัสเซียที่เคยมั่นคงแข็งแรงก็ทรุดตัว ธารน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัยซึ่งเป็นแหล่งน้ำจืดสำคัญของผู้คนกว่า 2,000 ล้านชีวิตในทวีปเอเชียกำลังละลายอย่างรวดเร็ว หากปล่อยไว้เช่นนี้ อีก 50 ปีข้างหน้า อาจส่งผลกระทบต่อ 40% ของประชากรโลกที่จะต้องเผชิญกับการขาดแคลนน้ำดื่ม ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไฟไหม้ป่าฝนเขตร้อนในประเทศอินโดนีเซียรุนแรงขึ้น สร้างความเสียหายให้ผืนป่ากว่า 12.5 ล้านไร่ ประเทศหมู่เกาะเล็กๆ อย่างมัลดีฟส์ ในมหาสมุทรอินเดีย และตูวาลู ซึ่งเป็นประเทศแถบโอเชียเนีย ในมหาสมุทรแปซิฟิกกำลังจะจมทะเล และเป็นครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์พบว่าหมีขาวจมน้ำตายเพราะไม่มีแผ่นน้ำแข็งให้เกาะอาศัย
ข้ามไปดูประเทศอีกฝั่งของโลกกันบ้าง ปี 2545 ที่ประเทศแคนาดา “วอร์ดฮันต์” แผ่นน้ำแข็งขนาดใหญ่ที่สุดในโลกแตกออกเป็น 2 ส่วน ท่ามกลางความตื่นตระหนกของบรรดานักวิทยาศาสตร์ เพราะเหตุการณ์เช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ดาวเทียมขององค์การนาซาตรวจพบว่าน้ำแข็งที่ขั้วโลกใต้ละลายกลายเป็นน้ำ 31 พันล้านตันต่อปีน้ำแข็งบนเกาะกรีนแลนด์ละลายมากถึง 50 ลูกบาศก์กิโลเมตรต่อปี นับเป็นอัตราการละลายที่เพิ่มขึ้นสองเท่าในรอบ 10 ปี เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2513 แผ่นน้ำแข็ง
ขั้วโลกเหนือในช่วงฤดูร้อนมีขนาดลดลงถึง 80% และยังบางลง 40% ด้วย อากาศที่อุ่นขึ้นและแผ่นน้ำแข็งที่บางลง เป็นอุปสรรคต่อการอยู่รอดของลูกเพนกวินจักรพรรดิ ประชากรเพนกวินจักรพรรดิจึงลดลงถึง 70% ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา จนทำให้นักภูมิศาสตร์พากันตั้งคำถามว่า “เราจะต้องวาดแผนที่โลกขึ้นใหม่หรือไม่”
ศิริธรรม สิงโต
ศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี