มีอยู่สองคำสำคัญที่เกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อนที่ทุกคนควรรู้ไว้ คือ “Climate change” และ “Global warming” คำแรก “Climate change” หรือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ใช้เรียกความเปลี่ยนแปลงของดิน ฟ้า อากาศ ในระดับโลก ระดับภูมิภาค หรือระดับท้องถิ่น ที่เกิดขึ้นแล้วในอดีต กำลังเกิดในปัจจุบัน หรืออาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งที่เป็นผลจากปัจจัยทางธรรมชาติหรือการกระทำของมนุษย์ ส่วน “Global warming” คือ โลกร้อน เป็นคำที่นักวิทยาศาสตร์ใช้กันมาเกือบ 30 ปี ในความหมายของการเปลี่ยนแปลงในระดับโลกอันเป็นผลมาจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งก๊าซเรือนกระจกมีทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และเกิดจากการสังเคราะห์โดยมนุษย์ มีหลายชนิดได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ 53% มาจากกระบวนการที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เช่น การหายใจของคนและสัตว์ ไฟป่า หรือการระเบิดของภูเขา แต่ส่วนใหญ่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น น้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ มีเทน 17% มากกว่าครึ่งหนึ่งของมีเทนในชั้นบรรยากาศมาจากนาข้าว ฟาร์มปศุสัตว์ หลุมฝังกลบขยะ ระบบบำบัดน้ำเสีย การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและโรงงานอุตสาหกรรม โอโซน 13% โอโซนระดับผิวโลก เกิดจากการทำปฏิกิริยาระหว่างแสงแดดกับมลพิษในชั้นบรรยากาศ ไนตรัสออกไซด์ 12% มาจากการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนในการเกษตร อุตสาหกรรมเคมี อุตสาหกรรมพลาสติกและอุตสาหกรรมผลิตเส้นใยไนลอน ล้วนเป็นกิจกรรมสำคัญที่ปล่อยไนตรัสออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ คลอโรฟลูออโรคาร์บอน หรือ CFC 5% สารเคมีที่ใช้ในกระบวนการผลิตโฟมและเป็นสารทำความเย็นในเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น สเปรย์ น้ำยาดับเพลิง แม้การปล่อย CFC จะลดลงจากเมื่อสิบกว่าปีก่อนประมาณ 40% แต่ยังคงตกค้างอยู่ในชั้นบรรยากาศจนถึงปัจจุบัน
ช่วง 3-4 ทศวรรษที่ผ่านมา อัตราการเพิ่มของคาร์บอนในชั้นบรรยากาศแต่ละปีเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากที่เคยปล่อยไม่เกิน 15 ล้านตันในปี 2513 ปัจจุบันตัวเลขดังกล่าวพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 26,000 ล้านตันต่อปี เช่นเดียวกับระดับความเข้มข้นของคาร์บอน ยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมชั้นบรรยากาศโลกมีคาร์บอน 280 ส่วนในล้านส่วน ผ่านไปสองร้อยกว่าปีมาถึงวันนี้เพิ่มขึ้นเป็น 380 ส่วนในล้านส่วนแล้ว ที่น่าตกใจคือตลอดระยะเวลา 650,000 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยมีครั้งใดที่ความเข้มข้นของคาร์บอนสูงเกิน 300 ส่วนในล้านส่วน ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมปล่อยคาร์บอนมากถึง 40% รองลงมาเป็นคาร์บอนจากการใช้ไฟฟ้าของอาคารบ้านเรือน 31% การคมนาคมขนส่งปล่อยคาร์บอน 22% ทว่ามีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกปีละ 2% เพราะสายการบินต้นทุนต่ำและการเพิ่มขึ้นของรถยนต์ ส่วนภาคเกษตรกรรมปล่อยคาร์บอน 4% เท่านั้น ผืนป่าที่โดนตัดถางและเปลี่ยนสภาพเป็นพื้นที่เกษตรกรรมเชิงเดี่ยว หมายถึงการสูญเสียแหล่งกักเก็บคาร์บอนชั้นดี ขณะเดียวกันการเร่งขุดเชื้อเพลิงฟอสซิลขึ้นมาใช้มากขึ้นๆ คาร์บอนปริมาณมหาศาลจึงกระจายอยู่ทั่วท้องฟ้า เมื่อความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนของโลกลดลง และคาร์บอนในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้นเร็วกว่าการถ่ายเทคาร์บอนสู่แหล่งกักเก็บต่างๆ ตามกระบวนการธรรมชาติ จึงสะสมตกค้างอยู่ในชั้นบรรยากาศและทำให้โลกร้อนระอุขึ้นเรื่อยๆ
จากข้อมูลปี 2565 โดย United Nations Statistics Division ประเทศจีนครองแชมป์ประเทศที่ปล่อยคาร์บอนมากที่สุดในโลกคือ 12,667,428,430 ล้านตัน คิดเป็น 32.88% ตามมาด้วยสหรัฐอเมริกา และอินเดียด้วยปริมาณการปล่อยคาร์บอน 4,853,780,240 และ 2,693,034,100 ล้านตัน คิดเป็น 12.60% และ 6.99% ตามลำดับ ส่วนรัสเซีย และญี่ปุ่น ปล่อยคาร์บอนอยู่ที่ 1,909,039,310 และ 1,082,645,430 ล้านตัน คิดเป็น 4.96% และ 2.18% ของปริมาณการปล่อยทั้งหมด สำหรับไทยอยู่ในอันดับที่ 22 ของโลก โดยปล่อยคาร์บอน 282,445,820 ล้านตัน คิดเป็น 0.73% ซึ่งนับเป็นอันดับ 3 ของภูมิภาคอาเซียน รองจากอินโดนีเซียและเวียดนาม
ธารน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัยที่ละลายอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องทำให้เกิดน้ำท่วมบ่อยครั้งภายใน 20-30 ปีข้างหน้าหลังจากนั้นแม่น้ำหลายสายจะแห้งเหือด แหล่งน้ำจืดของผู้คนที่อาศัยอยู่ตอนกลาง ทางใต้ ตะวันออก และตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปเอเชียจะลดลงไม่เกิน 15 ปี นับจากนี้ ชาวแอฟริกัน75-250 ล้านคนจะขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ บ้านเรือนของผู้คนนับล้านในเอเชียและแอฟริกาซึ่งตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำหรือปากแม่น้ำขนาดใหญ่ จะถูกน้ำท่วมแทบทุกปีเพราะระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น อัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคท้องร่วงเพิ่มสูงขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยุโรปตอนใต้จะเผชิญกับความแห้งแล้งส่วนยุโรปตอนกลางและยุโรปตะวันออกจะถูกคลื่นความร้อนคุกคามอยู่บ่อยครั้ง โลกสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพรุนแรงขึ้น ภายในปี 2570 สิ่งมีชีวิตในแนวปะการังเกรตแบริเออรีฟของออสเตรเลียจะลดจำนวนลงอย่างเห็นได้ชัด อีก 40-50 ปีข้างหน้า อุณหภูมิที่สูงขึ้นผนวกกับความชื้นในดินที่ลดลงจะทำให้ป่าฝนเขตร้อนในแถบอะเมซอนด้านตะวันออกกลายเป็นทุ่งหญ้าสะวันนา นั่นหมายความว่า ทุกคนจะใช้ชีวิตอย่างยากลำบากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ศิริธรรม สิงโต
ศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพชีวภาพ
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี