รูปที่ 1 น้ำแตงกวาดอง (pickle juice)
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่โฆษณาว่าสามารถช่วยป้องกันและรักษาอาการตะคริวในกล้ามเนื้อ
ปัจจุบันยังไม่มีความรู้ที่แน่ชัดเกี่ยวกับกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและรักษาตะคริวในกล้ามเนื้อ (EAMC) อย่างไรก็ตาม การศึกษาก่อนหน้านี้พบว่า การสูญเสียอิเล็กโทรไลต์จากเหงื่อจำนวนมากและการดื่มน้ำมากเกินไปอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดตะคริว ดังนั้น การเติมเกลือลงในน้ำดื่มจึงถูกเสนอเป็นกลยุทธ์ในการป้องกันตะคริว ซึ่งจากงานวิจัยของ Dill et al. (1936) และงานวิจัยอื่นๆในภายหลังยืนยันว่าการเติมเกลือในน้ำช่วยลดอัตราการเกิดตะคริวได้จริง
จากงานวิจัยที่ผ่านมาพบว่ามีการทดลองใช้ยาสมุนไพรพื้นบ้านต่างๆทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อป้องกันและรักษาตะคริว เช่น น้ำแตงกวาดอง มัสตาร์ด ควินิน น้ำส้มสายชู และเครื่องเทศหรือสมุนไพรต่างๆ แม้แต่การรักษาแบบแพทย์ทางเลือกบางชนิดก็ได้รับรายงานว่าได้ผล โดยมักเป็นความเชื่อที่ได้รับการถ่ายทอดกันแบบปากต่อปากในหมู่นักกีฬา ส่งเสริมให้มีการใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ในวงกว้าง ซึ่งเชื่อว่าอาจเป็นผลทางจิตวิทยาที่เรียกว่า placebo effect อย่างไรก็ตาม การประเมินประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ทำได้ยาก เพราะโดยมากตะคริวมักจะหายได้เองก่อนที่จะมีการดำเนินการรักษาใดๆ
การศึกษาเกี่ยวกับน้ำแตงกวาดอง (pickle juice): ในแบบการศึกษาจำลองที่กระตุ้นให้เกิดตะคริวด้วยกระแสไฟฟ้า มีรายงานว่าน้ำแตงกวาดอง (ซึ่งมีปริมาณเกลือสูงและมีรสจัดจากกรดอะซิติก) (รูปที่ 1) สามารถลดระยะเวลาของการเกิดตะคริวได้ จากการศึกษาของ Miller et al
(2010) พบว่า ระยะเวลาของการเกิดตะคริวลดลงเฉลี่ยประมาณ 37% เมื่อดื่มน้ำดองผัก 1 มิลลิลิตร ภายใน 2 วินาทีหลังเกิดตะคริว เมื่อเทียบกับการดื่มน้ำเปล่า แต่ไม่มีผลต่อระดับความรุนแรงของตะคริว อย่างไรก็ตาม การดื่มน้ำแตงกวาดองในปริมาณน้อยๆไม่มีผลต่อระดับอิเล็กโทรไลต์ในพลาสมา เช่น โซเดียม โพแทสเซียม แมกนีเซียม หรือแคลเซียม รวมถึงความเข้มข้นและปริมาณพลาสมาในร่างกาย
รูปที่ 2 ควินิน (quinine)
นักวิจัยอธิบายว่า กลไกที่น้ำแตงกวาดองช่วยลดระยะเวลาของการตะคริวนั้นเกี่ยวข้องกับการกระตุ้นตัวรับบริเวณคอหอยหลังช่องปาก (oropharyngealregion) ส่งผลไปลดอัตราการส่งสัญญาณของเส้นประสาทมอเตอร์อัลฟ่าไปยังกล้ามเนื้อที่ได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตามการศึกษานี้ไม่ได้ศึกษาอาการตะคริวที่เกิดจากการออกกำลังกาย (EAMC) แต่เป็นการตะคริวที่เกิดจากการกระตุ้นด้วยไฟฟ้าในกล้ามเนื้อเล็กบริเวณฝ่าเท้า ซึ่งไม่สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงได้ว่ามีผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีประสิทธิภาพในการรักษา EAMC ได้
การศึกษาเกี่ยวกับควินิน (quinine) : ควินินซึ่งเป็นสารที่มีรสขม ถูกนำมาใช้ป้องกันตะคริว (รูปที่ 2) แม้ว่าจะมีงานวิจัยเกี่ยวกับ EAMC ไม่มากนัก การทบทวนวรรณกรรมในปี 2015 สรุปว่า การรับประทานควินิน (200-500 มก./วัน) สามารถลดจำนวนวัน และความรุนแรงของตะคริวได้ แต่ไม่มีผลต่อระยะเวลาในการเกิดตะคริว นักวิจัยตั้งสมมติฐานว่าการกระตุ้นตัวรับ Transient Receptor Potential (TRP) ในช่องปากอาจช่วยป้องกันหรือรักษาอาการตะคริวได้ โดยตัวรับ TRP เป็นหนึ่งในกลุ่มของตัวรับรู้รสชาติและความเจ็บปวดทั้งหมด 28 ชนิด ตัวรับ TRPV1 และ TRPA1 จะถูกกระตุ้นด้วยสารออกฤทธิ์ในอาหารรสเผ็ด เช่น พริกหรือวาซาบิ ซึ่งความรู้สึกไม่สบาย (หรือสบาย) ในช่องปากสามารถกระตุ้น electric activity ในบางส่วนของสมองได้ แต่ยังไม่แน่ชัดว่าสัญญาณเหล่านี้มีผลยับยั้ง electrical activity ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดตะคริวในกล้ามเนื้อได้หรือไม่ ซึ่งอาจต้องรอผลการวิจัยต่อไปในอนาคตเพื่อสนับสนุนสมมุติฐานนี้
สรุปแนวทางปฏิบัติเพื่อใช้ในการป้องกันและบรรเทาการเกิดตะคริวในกล้ามเนื้อ
n ตะคริวในกล้ามเนื้อเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ในระหว่างการออกกำลังกาย แต่สาเหตุยังไม่แน่ชัด ทำให้วิธีการป้องกันและการรักษายังไม่แน่นอน
n บางครั้งตะคริวเกี่ยวข้องกับการรบกวนสมดุลของน้ำและเกลือแร่ ดังนั้นการระมัดระวังและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ สามารถช่วยลดความเสี่ยงนี้ที่จะเกิดตะคริวได้
n เมื่อเกิดการสูญเสียน้ำและเกลือแร่สูง ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของเกลือแร่ โดยเฉพาะโซเดียม แทนการดื่มน้ำธรรมดา หลีกเลี่ยงการกระทำที่จะทำให้เกิดการขาดน้ำและการได้รับน้ำมากเกินไป
n การยืดกล้ามเนื้อบริเวณที่เกี่ยวข้องอาจช่วยลดระยะเวลาของการเกิดตะคริวได้
n ไม่มีวิธีการป้องกันหรือการรักษาชนิดใดชนิดหนึ่งที่ได้ผลแน่นอน เนื่องจากสาเหตุการเกิดไม่แน่นอน ดังนั้น การลองผิดลองถูกอาจเป็นกระบวนการหนึ่งที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพในแต่ละบุคคล
เอกสารอ้างอิง: Dill, D.B., A.V. Bock, H.T. Edwards, and P.H. Kennedy (1936). Industrial fatigue. J. Industrial Hygiene Toxicol. 18:417-431.
Miller, K.C., G.W. Mack, K.L. Knight, J.T. Hopkins, D.O. Draper, P.J. Fields, and I. Hunter (2010). Reflex inhibition of electrically induced muscle cramps in hypohydrated humans. Med. Sci.Sports Exerc. 42:953–961.
นายภานุวัฒน์ สุวรรณโชติ
นิสิตระดับบัณฑิตศึกษาหลักสูตร
วิทยาศาสตร์การกีฬาและการออกกำลังกาย
ผ.ศ.ดร. ปิยาภรณ์ ตุ้มนาค
คณะวิทยาศาสตร์การกีฬาและสุขภาพ
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี