อาหารเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ในบทบาทสนับสนุน ที่สำคัญต่อการทำงานของระบบต่างๆ ของร่างกาย ส่งผลกับสุขภาพและคุณภาพชีวิตโดยรวม ดังนั้นการปนเปื้อนของอาหารจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งแสดงถึงปัญหาด้านความปลอดภัยระดับโลกที่สำคัญ ซึ่งก่อให้เกิดภัยคุกคามร้ายแรงต่อสุขภาพของมนุษย์ ยังรวมถึงสิ่งแวดล้อม เช่น น้ำ อาจเป็นอีกหนึ่งแหล่งที่มาของสารปนเปื้อน และหนึ่งในสารปนเปื้อนทางเคมีเหล่านั้น คือ ไซยาโนท็อกซิน
ไซยาโนท็อกซิน (Cyanotoxin) เป็นสารพิษที่ผลิตโดยไซยาโนแบคทีเรีย ซึ่งเป็นแบคทีเรียสังเคราะห์แสง หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ “สาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียว” ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ไซยาโนท็อกซินได้กลายเป็นประเด็นที่สร้างความกังวลอย่างมากในด้านความปลอดภัยของอาหารและสิ่งแวดล้อม
การแพร่ระบาดของไซยาโนแบคทีเรีย หรือที่เรียกว่า“การบูร” เป็นปรากฏการณ์ที่นำไปสู่การผลิตไซยาโนท็อกซินในปริมาณมาก ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางน้ำและสุขภาพของมนุษย์ การแพร่กระจายของสารพิษนี้เป็นผลมาจากปัจจัยที่ซับซ้อนและเชื่อมโยงกันหลายประการ ได้แก่
1. การเพิ่มขึ้นของธาตุอาหารในแหล่งน้ำ (Eutrophication) : เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การใช้ปุ๋ยในการเกษตรและการปล่อยน้ำเสีย ทำให้ปริมาณไนโตรเจนและฟอสฟอรัสในแหล่งน้ำเพิ่มสูงขึ้น สร้างสภาวะที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของไซยาโนแบคทีเรีย
2. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ : ที่เรียกว่า ภาวะโลกร้อน ส่งผลให้อุณหภูมิสูงขึ้นและรูปแบบของฝนที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเป็นสภาวะที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของไซยาโนแบคทีเรีย นอกจากนี้ สภาพอากาศรุนแรง เช่น พายุและน้ำท่วม ยังอาจทำให้สารพิษแพร่กระจาย
ไปยังพื้นที่ใหม่ๆ
3. การเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศทางน้ำ : เช่น การสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงการไหลของแม่น้ำ สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของไซยาโนแบคทีเรีย โดยเฉพาะในแหล่งน้ำนิ่งที่มีการหมุนเวียนของน้ำต่ำ
4. ความสามารถในการปรับตัวของไซยาโนแบคทีเรีย : ไซยาโนแบคทีเรียมีความสามารถในการปรับตัวสูง ทำให้สามารถเจริญเติบโตได้ในสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย ทั้งในน้ำจืด และน้ำกร่อย
5. การสะสมในห่วงโซ่อาหาร : ไซยาโนท็อกซินสามารถสะสมในสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศทางน้ำ เช่น ปลาและหอย เมื่อถูกบริโภคโดยมนุษย์หรือสัตว์อื่นๆ จะทำให้เกิดการแพร่กระจายของสารพิษในวงกว้างขึ้น
ไซยาโนท็อกซินมีหลายประเภท แต่ละชนิดส่งผลกระทบต่อร่างกายแตกต่างกัน มีทั้งสารพิษต่อตับ เช่น ไมโครซิสติน (MCs) โดยชนิดที่รู้จักกันดีที่สุดคือ MC-LR,นอดูลาริน (NODs) และไซลินโดรสเปอร์มอปซิน (CYN) สารพิษต่อระบบประสาท เช่น อนาท็อกซิน-เอ (ATX-a), แซกซิท็อกซิน (STXs) และ เบต้า-เอ็น-เมทิลอะมิโน-แอล-อะลานีน (BMAA) และสารพิษต่อผิวหนัง เช่น แอพลีเซียท็อกซิน (APTXs) และลิงบายาท็อกซิน (LTXs)
ในด้านความปลอดภัย องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดมาตรฐานสำหรับน้ำดื่ม โดยระบุว่าปริมาณสารพิษไมโครซิสตินต้องไม่เกิน 1 ไมโครกรัมต่อลิตร นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ได้กำหนดมาตรฐานสำหรับสาหร่ายแห้ง โดยอนุญาตให้มีสารพิษไมโครซิสตินได้ไม่เกิน 1 ไมโครกรัมต่อสาหร่ายแห้ง 1 กรัม
เอกสารอ้างอิง
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. 2565. “ประกาศสำนักงานอาหารและยา “ 8 กรกฏาคม 2567.
https://food.fda.moph.go.th/media.php?id=509490098564374528&name=054supplement309.pdf
Backović, D.D. and Tokodi, N., 2024. Cyanotoxins in food: Exposure assessment and health impact. Food Research International, p.114271.
Jabłoćska-Trypuć, A., 2024. Algae as Crop Plants Being a Source of Bioactive Ingredients of Pharmaceutical and Dietary Importance. Agronomy, 14(5), p.895.
World Health Organization (WHO). Cyanobacterial toxins: Microcystin-LR in drinking water. guidelines for drinking water quality, 2nd ed Geneva, Switzerland. 1998; 1-11.
นวลจันทร์ ใจใส
ศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพชีวภาพ
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี