อาร์ทีเมีย (Artemia sp.) หรือ ไรสีน้ำตาล หรือไรน้ำเค็ม (brine shrimp) เป็นแพลงก์ตอนสัตว์ที่ทนเค็มที่สุดในโลกชนิดหนึ่ง จัดอยู่ในชั้นครัสเตเซีย (crustacea class) เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังจำพวกกุ้งชนิดหนึ่ง มีชื่อสามัญว่า Brine Shrim หรือ Artemia อาศัยในทะเลสาบน้ำเค็มสูง (100-250 ppt) ซึ่งศัตรูของอาร์ทีเมียไม่สามารถอาศัยได้ พบในหลายประเทศ เช่น จีน รัสเซีย คาซัคสถาน สหรัฐอเมริกา
อาร์ทีเมียมีลำตัวแบนเรียวยาวคล้ายใบไม้ ตัวเต็มวัยมีขนาด 7-16 มม. กินแพลงก์ตอนพืช จุลินทรีย์ และตะกอนอนุภาคเล็กๆ เป็นอาหาร ลำตัวใสแกมชมพู ไม่มีเปลือกแข็งหุ้มลำตัว (Shelless) แต่มีเนื้อเยื่อบางๆ หุ้มไว้ ว่ายน้ำเคลื่อนที่ในลักษณะหงายท้อง ลำตัวแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ
– ส่วนหัว แบ่งออกได้เป็น 6 ปล้อง มีตาเดี่ยวและตารวมที่มีก้านตา 1 คู่ และหนวด 2 คู่
– ส่วนอก แบ่งออกเป็น 11 ปล้อง แต่ละปล้องมีระยางค์ปล้องละ 1 คู่ ทำหน้าที่ทั้งในการว่ายน้ำ หายใจ และช่วยกรองอาหารเข้าปาก
– ส่วนท้อง แบ่งออกเป็น 8 ปล้อง ปล้องแรกเป็นที่ตั้งของอวัยวะเพศ ปล้องที่ 2-7 ไม่มีระยางค์ และปล้องที่ 8 มีแพนหาง 1 คู่
ความแตกต่างระหว่างเพศ โดยปกติเพศผู้จะมีขนาดเล็กกว่าเพศเมีย และหนวดคู่ที่ 2 ของเพศผู้จะมีขนาดใหญ่คล้ายตะขอใช้เกาะเพศเมีย ทำให้ดูว่ามีส่วนหัวขนาดใหญ่ เพศเมียจะมีถุงไข่ที่ปล้องแรกของส่วนท้อง การแพร่พันธุ์ของอาร์ทีเมียสามารถขยายพันธุ์ได้ 2 แบบขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ คือ 1) แบบออกเป็นตัว โดยในช่วงสภาวะแวดล้อมปกติที่ความเค็มตั้งแต่ 20-120 ppt ไข่จะฟักเป็นตัวภายในมดลูก โดยจะสังเกตได้จากมดลูกจะมีสีขาวเทา และ 2) แบบออกเป็นซีสต์ เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป เช่น ความเค็มสูงมากกว่า 130 ppt หรือมีการแพร่พันธุ์จนมีปริมาณตัวอาร์ทีเมียอยู่อย่างหนาแน่นหรือปริมาณอาหารลดลง หรืออุณหภูมิลดต่ำลงมาก หรือคุณสมบัติของน้ำไม่เหมาะสม จะมีเปลือกแข็งหุ้ม สังเกตได้จากการมองเห็นมดลูกมีสีน้ำตาลเข้ม โดยในแต่ละรอบของการสืบพันธุ์ เพศเมียแต่ละตัวจะให้ลูกออกมาเป็นตัวหรือเป็นซีสต์เพียงแบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น ประมาณ 50-300 ฟอง ขึ้นอยู่กับขนาดของแม่และสายพันธุ์ โดยสภาวะปกติอาร์ทีเมียมักจะออกลูกเป็นซีสต์
ประโยชน์ของอาร์ทีเมีย เช่น ใช้เป็นตัวทดสอบทางชีววิธี (bioassay) เพื่อให้ทราบถึงความเป็นพิษระบบนิเวศวิทยาของแหล่งน้ำ หรือใช้ในการทดสอบความเป็นพิษของสารพิษหรือสารสกัดต่างๆ (toxicity test) เป็นต้น แต่ที่นิยมนำมาใช้อย่างกว้างขวางคือ นำมาใช้เป็นอาหารสัตว์น้ำวัยอ่อน เช่น ลูกกุ้ง ปู และปลาต่างๆ เนื่องจากอาร์ทีเมียแรกฟักจะมีคุณค่าทางอาหารสูง โดยเฉพาะกรดไขมัน EPA แร่ธาตุ วิตามิน เหมาะแก่การใช้อนุบาลลูกสัตว์น้ำ ทำให้ลูกสัตว์น้ำจะโตไว
อาร์ทีเมียขนาดโตเต็มวัยนอกจากจะใช้เป็นอาหารสัตว์น้ำโดยตรงแล้ว ยังสามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น อาร์ทีเมียดอง อาร์ทีเมียแช่แข็ง อาร์ทีเมียผง อาร์ทีเมียแผ่น หรือใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตอาหารสำเร็จรูปที่มีโปรตีนสูงชนิดต่างๆ สำหรับนำไปใช้ในวงการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทั่วไป
นอกจากนี้ อาร์ทีเมียยังช่วยฟื้นฟูคุณภาพน้ำ เนื่องจากจะกินอาหารโดยการกรองรวบรวมสิ่งแขวนลอยทุกอย่างในน้ำที่มีขนาดเล็กกว่าช่องปากทั้งจุลินทรีย์ แบคทีเรีย แพลงก์ตอน ซากเน่าเปื่อยของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ตลอดจนอนุภาคอินทรีย์สาร (organic particles)
ขอขอบคุณข้อมูลจาก :
https://howbetta.wordpress.com/2015/05/03/artrmia
https://www.gotoknow.org/posts/4149
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี