พรีเมียร์ลีก อังกฤษ ได้ตัดสินใจขยายกฎเกณฑ์ผลกำไรและความยั่งยืน ((Profitability and Sustainability Rules หรือ PSR) ออกไปอีกอย่างน้อย 1 ฤดูกาล พร้อมกับได้ระงับแผนโปรโตคอลใหม่ สำหรับกรอบอัตราส่วนต้นทุนทีม (The Squad Cost Ratio หรือ SCR) เอาไว้ก่อน
ในการประชุมที่มหานครลอนดอน ตัวแทนสโมสรในพรีเมียร์ลีกได้เลือกที่จะคงไว้ซึ่งความต่อเนื่องของ PSR โดยเลื่อนการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบทางการเงินออกไป
หลังจากมีข่าวลือว่าการต่อสู้ทางกฎหมายระหว่าง แมนเชสเตอร์ ซิตี้ กับ พรีเมียร์ลีก ในคดีความ 115 คดี จนทำให้การเปลี่ยนมาใช้ SCR ต้องหยุดชะงัก แต่ยังคงต้องดูกันต่อไปว่าเรื่องนี้จะมีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่
ระบบ PSR จำกัดให้สโมสรขาดทุนไม่เกิน 105 ล้านปอนด์ในระยะเวลา 3 ปี ซึ่งเป็นกฎที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง โดยบางสโมสรต้องการการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากหลายฝ่ายมองว่า การบังคับใช้ระบบนี้ไม่สอดคล้องกันกับสถานการณ์ความเป็นจริง โดยซีซั่นที่แล้ว เอฟเวอร์ตัน กับ น็อตติงแฮม ฟอเรสต์ ต้องเผชิญกับการหักคะแนนอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตาม ไม่มีสโมสรใดถูกตั้งข้อหาละเมิดกฎการใช้จ่ายสำหรับงวดบัญชี 2023-24 ในการประกาศเมื่อเดือนที่แล้ว
การตัดสินใจคงไว้ในกฎ PSR หมายความว่า การตรวจสอบทางการเงินจะยังคงเป็นหัวข้อที่ได้รับความสนใจ เพราะหลายสโมสรจำเป็นต้องขายนักเตะดาวรุ่งเพื่อปรับสมดุลบัญชี และการทำลักษณะนี้พิสูจน์แล้วว่า ขัดแย้งและไร้ประโยชน์
ขณะที่กฎSCR ที่เสนอมานั้นก็มีข้อเสียเช่นกัน โดยจะกำหนดเพดานค่าจ้างผู้เล่น, ค่าธรรมเนียมการโอนย้าย และการจ่ายเงินของเอเยนต์ไว้ที่ 85% ของรายได้ของสโมสร
โดย SCR ควรที่จะมีประสิทธิภาพเป็นตัวเปลี่ยนเกมที่มีศักยภาพในการควบคุมการใช้จ่ายที่มากเกินไป อย่างไรก็ตาม การอภิปรายกลับหยุดชะงักอีกครั้ง โดยสโมสรในพรีเมียร์ลีก ขอเลือกเองที่จะยึดตามกฎที่พวกเขาเคยชินอย่าง PSR ซะก่อน
อย่างไรก็ตาม พรีเมียร์ลีกก็เผชิญกับแรงกดดันที่เพิ่มมากขึ้นในการหาทางออกในระยะยาวที่รับประกันความยั่งยืนทางการเงิน โดยไม่ขัดขวางความทะเยอทะยานที่หลายทีมต้องการเสริมทัพเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน รวมไปถึงการสร้างสนามใหม่ หรือขยับขยายในเรื่องของสนามฝึกซ้อม
สโมสรในอังกฤษกำลังเตรียมพร้อมสำหรับตลาดซื้อขายนักเตะในช่วงซัมเมอร์ภายใต้กฎ PSR เดิมพันนั้นสูงมากสำหรับทีมที่ต้องการรักษาสมดุลระหว่างความรอบคอบทางการเงินและการแข่งขัน
สื่อหลายแห่งในอังกฤษ ระบุว่า ในปัจจุบัน “ปีศาจแดง” แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด พร้อมด้วย “สาลิกาดง” นิวคาสเซิล และ “สิงห์ผงาด” แอสตัน วิลล่า ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากกฎนี้
เมื่อปีที่แล้ว มีสโมสรทั้งหมด 16 แห่งที่ลงคะแนนเสียงสนับสนุนให้พิจารณาใช้ระบบจ่ายแบบเดิม โดยมี แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, แมนเชสเตอร์ซิตี้ และ แอสตัน วิลลา ลงคะแนนเสียงคัดค้าน ส่วน เชลซี ตัดสินใจงดออกเสียง
วิลลา เสนอแนวคิดเมื่อปีกลายที่ว่า จะขอปรับเกณฑ์ PSR จาก 105 ล้านปอนด์ในช่วง 3 ปีเป็น 135 ล้านปอนด์ จากนั้นในเดือนมกราคมที่ผ่านมา แมนฯยูไนเต็ดยอมรับว่าสโมสรจำเป็นต้องทำ "การตัดสินใจที่ยากลำบาก" เพื่อให้กลับมามีกำไรอีกครั้งและหลีกเลี่ยงการทำผิดกฎที่อาจเกิดขึ้นได้ นั่นคือเพิ่มราคาตั๋วบอล พร้อมกับปลดพนักงานต่อเนื่อง เพราะ 3 ปี เป็นหนี้กว่า 300 ล้านปอนด์
ขณะที่ นิวคาสเซิล แม้จะได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากเจ้าของสโมสรชาวซาอุดีอาระเบียเป็นจำนวนมากอย่าง “พับลิค อินเวสต์เมนต์ ฟันด์” (PIF) หรือ กองทุนเพื่อความมั่งคั่งของซาอุดีอาระเบีย แต่การใช้จ่ายของพวกเขาก็ถูกจำกัดภายใต้ระบอบ PSR
เอ็ดดี้ ฮาว กุนซือทีมดังแห่งย่านไทน์ไซด์ ยอมรับเมื่อเดือนที่แล้วว่า สโมสรจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการตกหลุมพราง PSR ที่บังคับให้พวกเขาต้องขายผลิตภัณฑ์ล้ำค่าจากอะคาเด โดยไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากการขาย เอลเลียต แอนเดอร์สัน ให้กับ น็อตติงแฮม ฟอเรสต์ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยยืนกรานว่าสโมสรจะต้องถูกหักคะแนนหากไม่ขาย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี