เดือนที่ผ่านมา ข่าวร้อนแรงในวงการเทนนิสคงไม่พ้น ข่าว “น้องบูม-กษิดิศ ลงแข่งรอบเมนดรอว์ในศึกเทนนิสแกรนด์สแลมแรกของปี Australian Open 2025 เจอกับ “พี่เมดเวเดฟ” ดีกรีมือ 5 ของโลก สู้กันแบบสนุก ก่อนที่เซต 4 น้องบูมจะโดน “พี่ตะคริว” เล่นงานหนัก ยื้อไว้ไม่ไหว ต้องยอมปล่อยให้พี่เมดฯเข้ารอบต่อไป…
เรื่องที่น่าสนใจ คือ หลังจากนั้นไปไม่กี่วัน คุณแม่ของน้องบูมก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์เล่าย้อนถึงที่มาที่ไปของความสูง 191 ซม.ของน้อง และมีการกล่าว “พาดพิง” ถึงเรื่องโภชนาการสมัยวัยรุ่น..วัยว้าวุ่นของน้องบูมด้วย มีหลายประเด็นที่คนสงสัย
ปุจฉา : เริ่มจาก...มีคนสงสัยว่าทำไมน้องบูม (24 ปี)ถึงมีส่วนสูงที่สูงมากขนาดนี้ (191 ซม.) ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นลูกครึ่ง และพ่อ-แม่ก็ไม่ได้สูงมาก (พ่อสูง 178 ซม.แม่สูง 162 ซม.) อยากรู้เคล็ดลับ จึงได้ไปสัมภาษณ์คุณแม่ได้ข้อมูลโดยสรุปมาว่า...
1) คุณแม่ให้น้องดื่มนมเรื่อยมาตั้งแต่ยังเด็ก จนกระทั่งช่วงอายุ 13-14 ปี ก็เริ่มจริงจังมากขึ้น โดยมีให้สร้างแรงจูงใจให้กับบูมด้วยการ “ให้รางวัล” โดยบูมจะ
ได้เงิน 100 บาท ทุกๆ ความสูงที่เพิ่มขึ้น 1 ซม.
2) ในตอนเด็กๆ คุณพ่อไม่ได้เน้นในเรื่องของ “ความเป็นเลิศ” ทางด้านกีฬามากนัก โดยจะให้น้องเข้าร่วมการแข่งขันเฉพาะบางรายการเท่านั้น เนื่องจากอยากให้น้องมีการเจริญเติบโตทางด้านร่างกายให้ได้มากที่สุด (เดาว่าคุณแม่ประเมินการเจริญเติบโตจากความสูง หากความสูงเพิ่มขึ้น = เติบโตได้ดี) และเน้นการฝึกทักษะทางด้านกีฬาในภายหลัง (หลังร่างกายโตเต็มที่แล้ว)
3) น้องมีเลิกเล่นเทนนิสไปช่วงหนึ่ง (ช่วงอายุ 8 ปี : ไปเล่นกีฬาอย่างอื่น เช่น บาสเกตบอลและฟุตบอล) และกลับมาเล่นอีกทีเมื่ออายุ 12 ปี (ช่วงที่กลับมาใหม่ๆ ยังตัวเล็กอยู่) ตอนกลับมาพี่สาวของบูมมาช่วยดูแลเรื่องโภชนาการ โดยให้กินชีส (เป็นของกินเล่น) และดูแลให้กินอาหารเช้า
ซึ่งในช่วงที่บูมอายุ ย่างเข้า 16 ปี ส่วนสูงขึ้นมาถึง 17 ซม.ในปีเดียว และพบว่าส่วนสูงยังขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังอายุ 18 ปีไปแล้ว
มาช่วยกันวิเคราะห์หน่อย…ใครเป็น “ตัวการ” ของเรื่องนี้?
ประเด็นที่ 1 : เรื่องการเจริญเติบโตในช่วง 13-14 ปี (ที่คุณแม่พูดถึง)
ต้องบอกว่าช่วงนั้นเป็นช่วง “ปีทอง”ของการเพิ่มความสูง กล่าวคือ อัตราการเจริญเติบโตสูงสุด (Peak High Velocity; PHV หมายถึง ช่วงที่เด็กมีการเจริญเติบโตเร็วที่สุด) จะเกิดขึ้นในช่วงอายุนั้นพอดีในเด็กผู้ชาย (รูปที่1-2)
ในช่วงนั้นความต้องการสารอาหารก็มากขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย กล่าวคือ นักกีฬามีความต้องการพลังงาน โปรตีน และน้ำเพิ่มขึ้น (จากมวลกล้ามเนื้อที่เพิ่มขึ้นรูปที่ 2) ประจวบเหมาะกับที่คุณแม่ก็มาเริ่ม “จริงจัง”ช่วงนั้นพอดี
ประเด็นที่ 2 : เรื่องโภชนาการที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของช่วงวัยนี้ (รูปที่ 3)
ความต้องการพลังงาน : นักกีฬาแต่ละคนมีความต้องการพลังงานและสารอาหารที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับอัตราการเผาผลาญ ฮอร์โมน และลักษณะกิจกรรม โดยพลังงานแบ่งเป็นสองส่วนหลัก:
พลังงานเพื่อการเจริญเติบโต + พลังงานสำหรับกิจกรรมทางกายและการฝึกซ้อมกีฬา
ซึ่งพลังงาน “อย่างหลัง” ส่งผลมากที่สุดต่อความต้องการพลังงานรวม (ซ้อมหนัก = ต้องการพลังงาน = กินมาก) การประเมินความต้องการพลังงาน จึงเป็นเรื่องสำคัญเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะพร่องพลังงาน ซึ่งพบบ่อยในนักกีฬาที่ฝึกซ้อมหนักและกินไม่พอ ภาวะนี้อาจก่อให้เกิดผลเสีย เช่น ประจำเดือนผิดปกติ กระดูกเปราะ ความสูงไม่พัฒนา และเพิ่มโอกาสบาดเจ็บ
ในที่นี้คุณแม่ใช้วิธีติดตามความสูงอยู่สม่ำเสมอ เพื่อดูว่าลูกได้รับสารอาหารพอไหม (สูงขึ้น = พลังงานพอ = กินพอ)
ผศ.ดร.ปิยาภรณ์ ตุ้มนาค
คณะวิทยาศาสตร์การกีฬาและสุขภาพ
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี